xs
xsm
sm
md
lg

Harvard เปิดกรณีศึกษาซีพี แนะธุรกิจไทย มุมมองโลกาภิวัตน์ ค้าปลีกยุคนี้เปิดกว้าง-ผูกขาดยาก โลตัสคือประตูพา SMEs สู่เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Harvard Business School ได้ศึกษาธุรกิจของซีพี และเขียนเรื่องราวเป็นกรณีศึกษาไว้ โดยวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ปัญหาสภาพแวดล้อมพื้นฐาน เช่น ปัญหาความยากจนที่คนส่วนใหญ่ยังมีอยู่อย่างเรื้อรัง ปัญหาหนี้สิน คนส่วนใหญ่รากฐานมาจากการเกษตรแต่ยังเป็นขั้นพื้นฐาน หากเป็นภาคการผลิตก็ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ ส่วนด้านบุคลากรยังประสบปัญหาด้านการศึกษา ทั้งหมดนี้ทำให้การทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมควบคู่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีองค์กรขนาดใหญ่ เช่น เกาหลีมีซัมซุง แอลจี ฮุนได ญี่ปุ่นมีโตโยต้า และจีนมีหัวเว่ย อาลีบาบา เพื่อเป็นผู้เล่นระดับโลกไปเปิดตลาดต่างประเทศ หากไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขนาดเพียงพอที่จะไปต่อรองในตลาดโลกและพารายเล็กไปขยายตลาด ก็ยากที่รายเล็กจะอยู่รอด เพราะในปัจจุบันไทยไม่ออกไปบุกตลาดโลก ตลาดโลกก็มาบุกประเทศไทย

ด้วยมิติที่มองเพียงแค่ตลาดไทย ทำให้คนมักเห็นซีพีในวันที่สำเร็จแล้ว บริษัทใหญ่กินรวบ ผูกขาด แต่จริงๆ แล้วยุคนี้กินรวบผูกขาดเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นยุคของการแข่งขัน นายธนินท์ เจียรวนนท์ มักพูดว่าปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ดังนั้น ใครปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ ใหญ่แค่ไหนก็ไปไม่รอดหากปรับตัวไม่ทัน เช่น กรณีวอลมาร์ทห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ใหญ่ขนาดนั้นยังประกาศปิดสาขา 269 แห่งทั่วโลก หลังประสบปัญหายอดขายตก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าที่หันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกออนไลน์อย่างแอมะซอน เป็นต้น

แต่หากมองในมิติโลกาภิวัตน์จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยแทบจะไม่เคยตั้งคำถามกับบริษัทต่างชาติว่าบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามาผูกขาดทำกิจการในประเทศไทยแบบไม่จดทะเบียน โดยแทบไม่จ่ายภาษีเลย หรือจ่ายน้อยมาก เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยงบการเงินปี 2559 ระบุว่า บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งรายได้รวม 535.34 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.87 ล้านบาท และมีการชำระภาษีเงินได้ 20.25 ล้านบาท, บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Line LineTV LineMusic และอื่นๆ แจ้งรายได้รวม 137.80 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 211.61 ล้านบาท ส่งผลทำให้ไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน WeChat, Joox และสนุกดอตคอม แจ้งรายได้รวม 412.30 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 156.27 ล้านบาท ไม่เสียภาษีเนื่องจากขาดทุน แต่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ชี้ว่า มีเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล กว่า 19,600 ล้านบาทในประเทศไทย ในปี 2563 ที่แทบไม่จ่ายภาษีให้แก่ประเทศไทยเลย

ฮาร์วาร์ด ได้ทำกรณีศึกษาของซีพี โดยมองว่า สำหรับเครือซีพีก็เหมือนกับบริษัททั่วไปที่มีความเสี่ยงมากมาย เช่น เมื่อ 20 ปีก่อน เครือซีพีก็เจ็บตัวไม่น้อย เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2540 จำใจต้องดึงยักษ์ค้าปลีกจากอังกฤษ Tesco เข้ามาร่วมทุนใน Lotus Supercenter ต้องขายหุ้นห้างค้าส่ง makro ออกไปให้บริษัทแม่เชื้อสายดัตช์ ลดสัดส่วนถือครองจาก 30% เหลือ 13.4% ก่อนมาซื้อคืนทั้งหมด แม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคมในขณะนั้น ต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ 16 ปีผ่านไป ซีพีก็สามารถกลับมาได้ และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยแนวทางที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง คือ ไม่ทำอะไรเกินตัว ประเมินความเสี่ยง และทำธุรกิจแบบ Inclusive คือ ทุกคนได้ประโยชน์ และที่สำคัญคือการมีมุมมองแบบโลกาภิวัตน์ คำว่าโลกาภิวัตน์ พึ่งจะมีบัญญัติกันไม่กี่สิบปี แต่ซีพีใช้แนวทางนี้มานานมากแล้ว เพียงแต่ใช้วลีที่ว่าซีพีต้องออกไปบุกตลาดทั่วโลก และตอนนี้พาธงชาติไทยไปตั้งอยู่ในสำนักงานและโรงงานกว่า 22 ประเทศทั่วโลก และตลาดค้าปลีกค้าส่งก็ไปบุกอาเซียน อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เป็นประตูสำหรับผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดภูมิภาค

ดังนั้น แทนที่จะมองว่าซีพีใหญ่เกินไปหรือไม่ หากใช้มุมมองโลกาภิวัตน์จะเห็นได้ว่า ซีพียังเล็กกว่าผู้เล่นขนาดใหญ่ระดับโลกหลายสิบเท่า หรือเรียกได้ว่าเป็นน้องเล็กในตลาดโลก เพียงแต่พอมีขนาดที่ทั่วโลกมองเห็นว่าเป็นผู้เล่นในระดับอินเตอร์ ธุรกิจไทยจึงต้องบุกไปตลาดโลก ก่อนผู้เล่นระดับโลกมาบุกตลาดไทย การร่วมมือกัน รวมกลุ่มกันแบบพี่ช่วยน้องของธุรกิจไทยจะทำให้ธุรกิจไทยมองตลาดแบบโลกาภิวัตน์และกล้าเดินหน้าไปทำตลาดที่ต่างประเทศ และโลตัสก็ดูจะเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกที่ได้กลับมาจากสหราชอาณาจักรสู่มือคนไทย อยู่ที่จะใช้ประโยชน์นี้คุ้มค่าแค่ไหน กับการเป็นประตูสู่ภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น