xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รีด “ภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัล” สกัดต่างชาติเอาเปรียบ -จับตาคนไทยโดน “ชาร์จ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกเสียงฮือฮาพอสมควรสำหรับ “ร่าง พ.ร.บ. e-Service” ที่กรมสรรพากรเตรียมเดินหน้าเก็บ “ภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ” เพราะถือเป็นมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย แล้วหอบเงินกลับไปโดยไม่เสียภาษี

กรมสรรพากรคาดการณ์ว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะสามารถบวกเพิ่มรายได้เข้ารัฐขั้นต่ำ 3,000 ล้านต่อปี

ทั้งนี้ การจัดภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเมืองไทยมีพูดคุยกันมานานพอสมควร ขณะที่ในหลายประเทศมีการผลักดันบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฯลฯ

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....” (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญ กำหนดให้จัดเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ ที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย แต่มีการให้บริการและสร้างรายได้จากการให้บริการในประเทศไทย ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องลงทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ กันตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลของไทย ในปี 2563 จะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินด้านโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแพลตฟอร์มดิจิทัลของต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูบ ฯลฯ

สำหรับอัตราการใช้บริการจากแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศไทยสูงติดอันดับโลก สัดส่วนผู้ใช้โซเชียลมีเดียของไทยคิดเป็น 75% ของจำนวนประชากรมี ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คมากกว่า 58 ล้านคนต่อเดือน ไลน์ ประมาณ 45 ล้านคน ทวิตเตอร์ ประมาณ 6.5 ล้านบัญชี อินสตาแกรม ประมาณ 12 ล้านบัญชี นอกจากนี้ ประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ประเทศที่ใช้เวลารับชมยูทูบมากที่สุดจากทั่วโลก
จะเห็นว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเมืองไทยเติบโตมีเม็ดเงินไหลสะพัดมหาศาล ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มต่างประเทศ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในประเทศ ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เน็ตฟลิกซ์, สปอทิฟาย ฯลฯ สร้างรายได้จากการให้บริการในเมืองไทยโดยไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย หรือบางแพลตฟอร์มของต่างชาติจดทะเบียนบริษัทในไทย แต่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเลี่ยงภาษี เหล่านี้ทำให้เงินภาษีที่ควรเก็บได้จำนวนมหาศาลสำหรับการพัฒนาประเทศสูญหายไป

ตลอดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างแพลตฟอร์มต่างประเทศกับแพลตฟอร์มไทย กล่าวคือแพลตฟอร์มของไทยต้องจ่ายภาษีตามกฎหมาย ขณะที่แพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาสร้างรายได้กลับไม่ต้องจ่ายภาษีแบกรับภาระในส่วนนี้ เป็นเอาเปรียบผู้ประกอบการไทยที่ทำถูกต้องตามกฎหมายโดยการเสียภาษี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเป็นหลักการสากลในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) จากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีของไทย

สำหรับการจัดทำร่าง พ.ร.บ. e–Service กรมสรรพากรได้นำผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้มากที่สุด โดยปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศที่นำแนวทางของ OECD มาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่าการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ

เรียกว่าเป็นการยกระดับมาตรการภาษีไทยให้ดูทันสมัย และสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศที่มีประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ. e-Service มีผลบังคับใช้ คำวนวนคร่าวๆ จะสร้างรายได้ให้รัฐโดยกระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็นแนวทางเดียวกับในหลายต่างประเทศตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแม้จะมีการผลักดันในหลายประเทศ แต่ขัดกับข้อตกลงของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าด้วยการกำหนดให้งดเว้นเก็บภาษีการนำเข้าสำหรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transmissions)

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่าปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น โดยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง อาทิ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ให้บริการรูปแบบต่างๆ เช่น ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม ซึ่งทำให้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน

สำหรับ การเก็บภาษีครอบคลุมบริการออนไลน์ของต่างประเทศที่เข้าข่ายในการเสียภาษีดิจิทัล ได้แก่ 1. กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เช่น อีเบย์ อาลีบาบา อเมซอน 2. มีเดีย และแอดเวอร์ไทซิ่ง(เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ไลน์ 3.กลุ่มบริการ เช่น มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ,เอเวอร์โน้ต 4. กลุ่มทรานส์ปอร์เทชั่น แอร์ไลน์ 5.กลุ่มทราเวลเช่น บุ๊กกิ้ง, แอร์บีเอ็นบี

6. ดิจิทัล คอนเทนท์ เช่น เน็ตฟลิกซ์, ไอฟลิกซ์, จู๊กซ์ , สปอทิฟายด์ 7. กลุ่มซอฟต์แวร์ เช่น แอ๊ปเปิ้ล แอพ) 8. เกม แอปเกมต่างๆ ทั้งบนไอโอเอสและแอนดรอยด์ 9.กลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ เช่น บริการคลาวด์ 10. บริการการเงิน เช่น เพย์พาล 11. ฟอเร็กซ์ อินเวสเม้นท์ 12. การพนันออนไลน์

ท้ายสุดท้าย แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ เพราะสามารถสกัดเงินไหลออกนอกประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมออนไลน์อย่างเป็นธรรม

แต่การเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม หากแพลตฟอร์มคิดค่าบริการโดยการบวกเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในช่วงที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ e-Service มีผู้ไม่เห็นเพราะเกรงว่าอาจมีการผลักภาระมายังประชาชน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องรอดูคือท่าทีของแพลตฟอร์มยักษ์ข้ามชาติ ล่าสุดผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก ยูทูบ สปอติฟาย ไลน์ ฯลฯ ยังเงียบ คาดว่าน่าจะพร้อมดำเนินการตามกฏหมายของไทย ส่วนจะจัดการกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด



กำลังโหลดความคิดเห็น