xs
xsm
sm
md
lg

เกม-หนัง-แอปกำลังจะแพงขึ้นจริงไหม? ย้อนรอยคำชี้แจงของกรมสรรพากร กรณี “พ.ร.บ e-Service”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนรอยคำชี้แจงที่กรมสรรพากรเคยให้ไว้ในช่วงรับฟังความคิดเห็นกรณี “พ.ร.บ e-Service” ที่ครม.ไทยเห็นชอบเรื่องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ แล้วเรียบร้อยเมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ทุกคำย้ำชัดเจนว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้เพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้ใช้ และเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางสากล ตอกย้ำว่าไม่ว่าเกม-หนัง-แอป หรือบริการออนไลน์อื่นจะมีราคาแพงขึ้นหรือไม่ในอนาคต ขอจงอย่ามาโทษกรมสรรพากร (เลยนะ)

จากรายงานสรุปการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ) ครั้งที่ 3 พบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ e-Service หรือ e-Business ในหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ พ.ร.บ. นี้จะเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ จนอาจมีการผลักภาระมายังประชาชนทั่วไป

ประเด็นนี้ กรมสรรพากรเลือกชี้แจงเฉพาะส่วนงานจัดเก็บภาษีของตัวเอง ไม่พูดถึงมุมของผู้ประกอบการที่ต้องไปบริหารจัดการรูปแบบค่าบริการกันเอง โดยย้ำว่าหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้เพิ่มภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ช่วยลดภาระของผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนด้วยซ้ำ ในการยื่นแบบฯ และนำส่งภาษี ให้แก่กรมสรรพากร

“ร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้เพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว หลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้จึงไม่ได้เป็น การเพิ่มภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังเป็นการลดภาระของผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนทั่วไปในการยื่นแบบฯ และนำส่งภาษี ให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางสากล ทั้งนี้ สาหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรได้จัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนที่ประมวล รัษฎากรยังไม่ครอบคลุม กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อกาหนดแนวทางให้สอดคล้องกับนานาประเทศต่อไป”

พ.ร.บ e-Service หรือ e-Business นี้ได้รับความสนใจมากในโลกออนไลน์ไทย เพราะแต่เดิม กฎหมายไทยไม่ได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้ เมื่อแก้ไขกฎหมายแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะถูกผลักภาระมายังประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายจึงคัดค้านให้จัดเก็บภาษีในลักษณะอื่นแทน เช่น การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นส่วนที่กรมสรรพากรระบุว่าจะศึกษาต่อไป


นอกจากประเด็นผลักภาระ ผู้คัดค้านพ.ร.บ e-Service หรือ e-Business ยังตั้งคำถามว่าเหตุใดร่างพระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดหน้าที่การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกรณี “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” จากผู้ให้บริการต่างประเทศ โดยไม่รวมถึง “สินค้าบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” จากผู้ให้บริการต่างประเทศ ซึ่งกรมสรรพากรชี้แจงว่าเพราะผู้นำเข้าสินค้ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สาหรับการนำเข้าสินค้าอยู่แล้วตามกฎหมายปัจจุบัน

กรณีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตโดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จะถือว่าเป็นช่องทางการชำระเงินตามความหมายของมาตรา 6 วรรคสามแห่งร่างพระราชบัญญัติด้วย แปลว่าการซื้อบัตรเติมเงินหรือการชำระด้วยบัตรเครดิตล้วนเข้าข่าย พ.ร.บ. นี้

ในรายงาน กรมสรรพากรย้ำว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้แยกระหว่าง “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในประเทศ” กับต่างประเทศก็จริง แต่ในการปรับใช้กฎหมาย จะไม่มีกรณีทับซ้อนกันระหว่างอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในประเทศกับต่างประเทศแน่นอน โดยกรมสรรพากรจะจัดทำคู่มือและประชาสัมพันธ์เพื่อความชัดเจนและ สร้างเข้าใจแก่ผู้ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

ความคิดเห็นและการชี้แจงของกรมสรรพากรเหล่านี้เกิดขึ้นในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผ่านทางวิธีการจัดการประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 21 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2563 วันที่ 24 และวันที่ 28 มกราคม 2563 ณ อาคารกรมสรรพากร และผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) และ เว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 14 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2563 รวมระยะเวลา 16 วัน


ขณะที่ในมุมของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างกสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองว่า ร่างฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น เป็นเรื่องที่ดี เหมาะกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ตนเองยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน และเป็นหน้าที่การดำเนินการของกระทรวงการคลัง ซึ่งในส่วนของกสทช.ยินดีให้ข้อมูลเกี่ยวกับคอนเท็นต์และทราฟิกของอุตสาหกรรมดังกล่าวได้

สิ่งที่ต้องรอดูคือท่าทีของเอกชนว่าจะขยับตัวรับเรื่องนี้ในรูปแบบไหน ล่าสุดรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) สปอติฟาย (Spotify) และไลน์ (LINE) ยังเงียบ คาดว่าทุกรายจะเอ่ยปากพร้อมดำเนินการตามกฏหมายของทุกประเทศรวมถึงไทย โดยไม่ลงลึกว่าจะจัดการกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไรในระยะแรก

ซึ่งไม่เพียงไทย อินโดนีเซียก็ประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าจะเตรียมเก็บภาษีจากยักษ์ใหญ่บริการออนไลน์ต่างชาติในเดือนกรกฏาคมนี้ ยังมีฟิลิปปินส์ที่เริ่มเสนอร่างกฏหมายลักษณะเดียวกัน แนวโน้มการเก็บภาษีเหล่านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วอาเซียน

สรุปแล้วก็ต้องอิงกับที่กรมสรรพากรบอก นั่นคือสรรพากรไม่เกี่ยวเลยนะจ้ะ ถ้าเกม-หนัง-แอป หรือบริการออนไลน์อื่นจะมีราคาแพงขึ้นในอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น