เมืองอัจฉริยะวังจันทร์ วัลเลย์ เป็นความตั้งใจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มอบแก่ประเทศไทยเพื่อให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในแผนพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อมุ่งหวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศผ่านการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รองรับการเจริญเติบโตตามนโยบาย Thailand 4.0
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวว่า โครงการวังจันทร์วัลเลย์ตั้งบนพื้นที่มากถึง 3,454 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ห่างจากกรุงเทพมหานคร 160 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ 130 กิโลเมตร ขณะนี้ ปตท.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ถนนและอาคารต่างๆ มีความคืบหน้าไปแล้ว 95% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการแก่พันธมิตรและผู้สนใจในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564
ระหว่างนี้ ปตท.เร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ New S-Curve แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยจะทำหน้าที่เป็น Enabler สร้างความร่วมมือในทุกรูปแบบกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้พื้นที่สร้างงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาในการพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์ว่า เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ ซึ่งทาง ปตท.ได้ซื้อกิจการมาแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไออาร์พีซี โดย ปตท.ตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าวจากไออาร์พีซีเพื่อต้องการให้ไออาร์พีซีมีเงินไปลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
“ปตท.พิจารณาว่าจะนำพื้นที่จำนวนมากนี้ไปพัฒนาอะไรได้บ้าง ผมได้เสนอทำสนามฟอร์มูลาวัน หรือดิสนีย์แลนด์ แต่สุดท้าย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซีอีโอ ปตท.ในสมัยนั้นต้องการทำเรื่องการศึกษาที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นในประเทศ จึงได้ตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ขึ้นในปี 2558
ในปีถัดมา รัฐบาลมีแผนต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันกว่า 30 ปี ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดย ปตท.ตัดสินใจเข้าร่วมใน EECi เพื่อให้เป็นศูนย์นวัตกรรมของประเทศ โดยพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เพื่อรองรับงานวิจัยและนวัตกรรม แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) 2. พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และ 3. พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย และสันทนาการ (Community Zone) โดย ปตท.รับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนน ไฟฟ้า น้ำประปา รวมทั้งระบบสื่อสาร ซึ่งใช้เงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท
นางเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โซนพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก พักอาศัย และสันทนาการ (Community Zone) เพื่อรองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัวนักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในวังจันทร์วัลเลย์จะประกอบด้วยโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งได้เลือกสรรโรงเรียนนานาชาติที่จะมาเปิดให้บริการในพื้นที่แล้ว คือ โรงเรียนนานาชาติบริติชปัญญาดี สมุย ส่วนโรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเตรียมจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาประมูลพัฒนาโครงการในปี 2564 คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565
ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับบริษัทค้าปลีกหลายราย รวมทั้งเดอะมอลล์ กลุ่มเซ็นทรัล ในเครือ ONE BANGKOK โดยรูปแบบการพัฒนาต้องเป็นอาคารสมัยใหม่ และเป็น Smart ทุกอย่างภายใต้คอนเซ็ปต์นวัตกรรม
ทั้งนี้ การพัฒนา Community Zone เฟสแรกประมาณ 150 ไร่ มีส่วนสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่พักอาศัยและครอบครัวช่วยผ่อนคลายหลังจากการทำงาน จะประกอบด้วยโรงแรม อพาร์ตเมนต์ มิกซ์ยูส โดยเตรียมยื่นขออนุมัติงบการลงทุนเพื่อใช้พัฒนาใน Community Zone ต่อที่ประชุมคณะกรรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วงเงินกว่า 1 พันล้านบาท
นางเบญญาภรณ์กล่าวเสริมว่า ส่วนการพัฒนาพื้นที่อีก 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) ปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว มีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
ส่วนพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) ซึ่งจะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยพัฒนา นวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ขณะนี้มีลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาเช่าใช้พื้นที่บ้างแล้ว ได้แก่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre : PTIC) คาดว่าจะเสร็จปี 2565 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรมคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 รวมถึง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้ามาใช้พื้นที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 0.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565
ขณะนี้โซนพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในเฟสแรกมีพื้นที่ราว 900-1,000 ไร่ แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดรองรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจเช่าใช้พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมราว 500 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียว และมีพื้นที่ส่วนกลาง โดยทยอยให้ลูกค้าได้เข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็น สวทช. และ ปตท.สผ.คงเหลือพื้นที่ในเฟส 1 อีกประมาณ 200 ไร่ที่จะรองรับพันธมิตรและผู้ที่สนใจทั้งใน และต่างประเทศมาใช้พื้นที่แล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ปตท.กล่าวว่า ในปี 2564 ทาง ปตท.เตรียมจัดทำมาสเตอร์แพลนในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ Innovation Zone เฟส 2 ที่เหลืออีก 900 ไร่เพื่อรองรับพันธมิตรใหม่ ทั้งนี้ มีบริษัทต่างชาติทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้สนใจเช่าพื้นที่ในโซนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น บริษัทจีนบางรายสนใจเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาด้าน AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (Robotics)
อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้การดึงพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ในวังจันทร์วัลเลย์ทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ปตท.ก็ยังเดินหน้าพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้พร้อมสมบูรณ์เต็มที่พร้อมรองรับพันธมิตรและผู้ที่สนใจเข้ามาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งยังสานต่อนโยบาย New S-Curve กระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ ทาง ปตท.ได้ตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) มีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ กล่าวได้ว่าเสร็จสมบูรณ์ครบ 100% แล้ว
อาคาร IOC เป็นอาคารปฏิบัติการ 3 ชั้น มีพื้นที่ 3,700 ตารางเมตร มีห้องสัมมนาขนาดใหญ่ มีห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) ที่แสดงภาพที่ส่งจากระบบปฏิบัติการต่างๆ บนวิดีโอวอลสูงประมาณ 2.7 เมตร และยาว 14.5 เมตร (จอ LED ขนาด 55 นิ้ว จำนวน 48 ชุด) โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและสั่งการระบบปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SCADA : การตรวจสอบสถานะ ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบบเรียลไทม์ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบน้ำเสีย, ระบบตรวจสอบและการทำงานของอุปกรณ์งานระบบอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ ไฟส่องสว่าง, การแสดงผลควบคุมและสั่งการระบบไฟตามถนน ทางเดิน, การแสดงผลควบคุมและสั่งการระบบ CCTV ระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ และอื่นๆ
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ปตท.ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์รองรับ 5G Play Ground และ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี 5G ให้พร้อมสำหรับการทดลอง ทดสอบนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการทดลอง ทดสอบโดรน และระบบที่เกี่ยวข้อง โดยมีพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่สนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนการทดสอบ 5G เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ โดยมีบริษัทเอกชนทั้ง 3 ค่ายได้เข้ามาตั้งเสาสัญญาณ 5G เรียบร้อยแล้ว ด้าน สวทช.สนับสนุนในการดำเนินการ UAV Sandbox ส่วน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่าย True 5G สำหรับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น พัฒนาทดสอบกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง เป็นต้น ส่วนบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมกับ VISTEC ได้ร่วมทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรมเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์
ด้าน ปตท.สผ.ก็ร่วมกับ VISTEC ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาในการสังเคราะห์สารประกอบวงแหวนคาร์บอเนต โครงการพัฒนาสารแยกน้ำมัน ซึ่งขณะนี้มีการทดสอบจริงในแหล่ง S1 และโครงการผลิตคาร์บอนนาโนทิวบ์โดยใช้สารเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์ โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ โครงการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์สำหรับอากาศยานไร้คนขับ ฯล
โครงการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใน EECi ได้รับการอนุมัติงบการลงทุนจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบวิศวกรรม หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2570 ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ
ปัจจุบัน วังจันทร์ วัลเลย์เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศ และด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ และแผนพัฒนาระบบอัจฉริยะต่างๆ ครบทั้ง 7 ด้านตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Smart City Thailand รายแรกของไทย ทำให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ มีการใช้พลังงานสีเขียวจากโซลาร์ฟาร์มเต็มรูปแบบ และมีโครงข่ายไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ (Smart Grid) มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในพื้นที่ เป็นต้น
การตั้งชื่อวังจันทร์ วัลเลย์เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจที่ต้องการผลักดันให้เป็นเมืองด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหมือนซิลลิคอน วัลเลย์ ที่สหรัฐอเมริกา ต้องการให้ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพหรือยูนิคอร์นที่มีมูลค่าธุรกิจนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมียูนิคอร์นเกิดขึ้นราว 200 บริษัทแต่อยู่ที่สหรัฐฯ กึ่งหนึ่ง ที่เหลืออยู่ในจีนอีก 50 นอกนั้นก็กระจายกันไป โดยในอาเซียนมีทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ดังนั้น การร่วมมือร่วมใจทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกันสร้างเทคโนโลยี มีเมืองอัจฉริยะพัฒนานวัตกรรมอย่างวังจันทร์วัลเลย์ที่พร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกรายที่จะมาใช้บริการศูนย์วิจัยฯ หรือมาเปิดศูนย์เพื่อพัฒนาด้านวัตกรรมต่างๆ จะเป็นแรงช่วยผลักดันให้เกิดยูนิคอร์นขึ้นในประเทศไทยได้ในอนาคต