ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.ปรับตัวดีขึ้น ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน แถมราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น เผยเฉพาะคนละครึ่งและช้อปดีมีคืนช่วยดันจีดีพีไตรมาส 4 เพิ่ม 0.7-1%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.9 เพิ่มขึ้นจาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจาก 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 เพิ่มขึ้นจาก 59.4 ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเพราะได้รับผลดีจากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในด้านการกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงในด้านจิตวิทยาเชิงบวก แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างน้อยไปจนถึงไตรมาสที่ 4 เพื่อรอดูทิศทางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ว่าจะสามารถคลี่คลายตัวลงได้มากน้อยอย่างไร และติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 อย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง และกรณีที่นายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะมีผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลก และราคาน้ำมันอย่างไร
นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากการประเมินเม็ดเงินของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ 100,000 ล้านบาท จากโครงการช้อปดีมีคืน 30,000-50,000 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งอีก 60,000 ล้านบาท สามารถดันเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายได้ที่ 0.7-1% ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2564 มีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ของปี 2564 และหากอัดมาตรการดีๆ อย่างต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 1 ปีหน้า จากที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 2 โดยศูนย์ฯ ยังประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้อยู่ที่ลบ 7 ถึงลบ 7.5% จากเดิมลบ 7.8%
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันถือเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้เท่านั้น เพราะขนาดของเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ และรายได้ส่วนใหญ่หลักๆ มาจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้เม็ดเงินหายไป เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ โดยรายได้จากต่างชาติปกติอยู่ที่ 6 แสนล้านบาทต่อเดือน แต่การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศทำได้สุดๆ อยู่ที่ 1.5-2 แสนล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น จึงยังไม่สามารถเทียบกับเม็ดเงินที่หายไปได้ รวมถึงการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการท่องเที่ยวต่างกันมาก โดยหากคนไทยจะใช้จ่ายเท่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คน คนไทย 1 คนจะต้องเดินทางกว่า 5 ครั้งจึงจะสามารถใช้จ่ายเท่ากับต่างชาติ 1 คนได้
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค. 2563 ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 คาดว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือติดลบ 7.7% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 8.5% ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม กังวลโควิด-19 ระบาดอีกระลอก ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง กังวลเรื่องเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และการที่สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีในสินค้าไทย 231 รายการ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นว่ามาตรการคนละครึ่งและช้อปดีมีคืนเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดี ซึ่งหากจะมีการต่อมาตรการในเฟสที่ 2 คงต้องมีการประเมิน และพูดคุยกันในการประชุม ศบศ.อีกครั้ง