ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ การรักษาธุรกิจเดิมให้รอดปลอดภัย ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากของโรคโควิด-19 ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นการลงทุนเพิ่มของธุรกิจต่างๆ เพราะล้วนเข้าสู่เซฟโหมด แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาดีลใหญ่หลายคนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นดีลกลุ่ม LVMH ประกาศเสนอซื้อ Tiffany & Co ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 506,000 ล้านบาท) และอีกดีลหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ดีลการเข้าซื้อ “เทสโก้ โลตัส” ในไทย-มาเลเซีย มูลค่า 3.38 แสนล้านบาทของกลุ่มซีพี กลับมาหลังขายออกไปในช่วงต้มยำกุ้ง ทำให้เป็นที่น่าใจมากกว่า ราคาที่ซื้อมานั้น อยู่ในสถานการณ์ที่ต่างกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ที่อยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ ยังไม่รู้ว่าปัญหาโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด ทำให้ซีพีต้องระดมสมอง บวกกับเงื่อนไขจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ที่คาดว่าจะให้จุดแข็งของซีพีในการช่วยยกระดับเอสเอ็มอี และต่อยอดตลาดไปสู่ต่างประเทศ ทั้งในอาเซียน และประเทศจีน ก็จะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย แต่โจทย์ที่สำคัญคือ ซีพีจะต้องช่วยพัฒนาสินค้าไทย พัฒนาเอสเอ็มอีให้พร้อมต่อตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้สมองและสองเท้าที่ต้องก้าวไปพร้อมกันกับคู่ค้าอย่างยั่งยืน
หากเปิดตำราธุรกิจ การเข้าซื้อธุรกิจใด หรือลงทุนในธุรกิจใดนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรก คือ การประเมินจุดคุ้มทุน และการประมาณการลูกค้า ส่องหาโอกาสในอนาคตว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร แต่จะมีใครในโลกนี้ที่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ว่าจะมีโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน และเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจตามมาอีกหลายระลอก ทำให้ดีลการซื้อขายที่เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 กลายเป็นของแพงไปเลยทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ดีลขนาดใหญ่เคยเป็นข่าวคึกโครมหลังจาก “กลุ่ม LVMH” ประกาศเสนอซื้อ “Tiffany & Co” ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 506,000 ล้านบาท) แม้ท่าทีของดีลดังกล่าวจะดูเป็นไปได้ด้วยดี และตัวเลขการเสนอซื้อก็เคยถูกยกให้สูงเป็นประวัติการณ์ในการซื้อธุรกิจแบรนด์หรู แต่ตอนนี้กลับล่มไม่เหลือชิ้นดี เพราะการเข้าซื้อธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และท้าทายมาก โดยกลุ่ม LVMH ชี้แจงว่า การเข้าซื้อธุรกิจของ Tiffany & Co คงไม่เสร็จสมบูรณ์ได้ LVMH บอก “ยกเลิก” ดีลประวัติศาสตร์นี้แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะของที่เคยคิดว่าคุ้มค่า แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะมีเหตุการณ์โรคระบาด และการเข้ามาของโลกออนไลน์ ที่ทดแทนการเดินจับจ่ายใช้สอย ทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ของที่เคยคุ้มค่า อาจได้มาในราคาที่แพงขึ้นหลายเท่า ทำให้การลงทุนในช่วงนี้ของหลายประเทศชะลอตัว หยุดการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศหยุดชะงัก ดังนั้น การที่ซีพีซื้อเทสโก้โลตัสมานั้น หากยังไม่สามารถปรับตัวธุรกิจไฮเปอร์มาร์ทได้เร็วพอ ก็จะไม่สามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และพาคู่ค้าทุกคนรอดไปด้วยกัน เพราะหากซื้อมาแล้วทำวิธีเดิมที่ทำอยู่ หากดีเจ้าของเดิมคงไม่ขายออก ดังนั้น ซีพี ต้องพลิกตำราหากทางออก และสู้กับผู้เล่นยุคใหม่ที่อยู่ในโลกตลาดออนไลน์ที่มีเจ้าของเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่รอบตัว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจตลาดค้าส่งค้าปลีกมีบทบาทในเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 15.9% ของจีดีพีสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น การรักษาอุตสาหกรรมให้คงอยู่แบบยั่งยืน และ ฝ่าวิกฤตความเปลี่ยนแปลงรอบตัวไปให้ได้นั้น มีความสำคัญมาก ในการเข้าซื้อเทสโก้โลตัส ครั้งนี้ หากคู่ค้าได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม รวมถึงมีการต่อยอด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงลูกค้า ก็จะมีทางเลือกที่มากขึ้น เป็นไปตามคาดหวังแล้วก็จะทำให้การดำเนินการเปลี่ยนการเป็นเจ้าของราบรื่น พลิกธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อเนื่องได้ รักษาการจ้างงาน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม สภาวะการค้าปลีกในประเทศไทยก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
สรุปว่า หลังผ่านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ซีพีต้องวางแผนว่า ธุรกิจที่ส่งมอบมาในราคาก่อนโควิด-19 จะแพงหรือไม่นั้น เงื่อนไขที่ได้มาจะทำอย่างไรให้ทุกคนวินวิน รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และก้าวไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน จะต้องปรับเปลี่ยนอะไรในเทสโก้โลตัสบ้าง การพัฒนาเอสเอ็มอี คิดวิธีจะทำอย่างไรให้ทุกคนวิน การผสมผสานเทคโนโลยีจะทำให้คู่ค้ามีความแข็งแรงขึ้นอย่างไร การส่งเสริมตลาดใหม่ในอินเตอร์ให้เอสเอ็มอี ล้วนเป็นโจทย์ยากยกกำลังสองที่ท้าทาย ที่เป็นโจทย์ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพยุงเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว