xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ 7 เงื่อนไขเข้ม กขค.อย่างละเอียด ดีล “ซีพี-เทสโก้โลตัส”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ออกมาแล้ว หลังจากรอการอนุมัติกว่า 90 วัน กรณีการพิจารณาการควบรวมกิจการ กรณีกลุ่มบริษัท ซี.พี. ในนาม บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (ถือหุ้นโดย ซีพี ออลล์ 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงิน 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 338,445 ล้านบาท ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563

ผลการพิจารณาดังกล่าวทำเอาคู่ค้าโล่งออก โดยคณะกรรมการ กขค. ได้เสนอเงื่อนไขที่ทำให้ซีพี ต้องทำการบ้านเพิ่ม และวางยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับเงื่อนไขทางธุรกิจ คือ ต้องยกระดับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากถึงปีละ 10%

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมสงสัยกันมากว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะถือว่าเป็นการผูกขาดหรือไม่? ผลสรุปโดยกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า “จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่คณะกรรมการ กขค. ได้กำหนดขึ้นนั้น หากซีพีไม่เห็นด้วย เมื่อได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการ ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เงื่อนไขทุกข้อที่คณะกรรมการเสนอไปนั้น ซีพีจะหนักใจกับเงื่อนไขใดหรือไม่ เพราะการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น ย่อมตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีก กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้กับพฤติกรรมลูกค้า และการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้ ทางเลือกของเทสโก้ โลตัส ก่อนการเข้าซื้อของกลุ่มซีพี มีไม่มากนัก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ต้องขายกิจการในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ทำให้ทุกฝ่ายถอนหายใจเฮือกใหญ่ หลังดีลใหญ่นี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมิเช่นนั้น จะเสี่ยงต่อการปรับตัวทางธุรกิจของเทสโก้ โลตัส อย่างเช่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ ที่กรรมการ กขค. ได้ตั้งขึ้นนั้น ทำให้ผู้ซื้อกิจการต่ออย่างเครือซีพี ต้องเตรียมการ และต้องดำเนินการอีกหลายส่วน ซึ่งนำมาซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระบวนการที่จะทำในรูปแบบเดิมไม่ได้ แต่โดยรวมจะดีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการที่บริษัทกลับมาเป็นของคนไทย หมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศไทยได้หลายรอบ ทั้งนี้ เส้นทางการเป็นเจ้าของเทสโก้โลตัสนั้น ไม่ได้เป็นงานง่าย ผู้เข้าซื้อต้องปฏิบัติตาม กำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติให้ได้ถึง 7 ข้อ ซึ่งสามารถแจกแจงและวิเคราะห์ได้ดังนี้

ประเด็นแรก การห้ามกระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถือว่า ทำให้สบายใจได้ว่า ที่ผ่านมา ดำเนินธุรกิจมาเช่นไร ก็จะยังคงมีจำนวนผู้เล่นครบถ้วนแบบเดิม ไม่มีการควบรวมธุรกิจรายอื่น ดังนั้น การแข่งขันจะยังสมบูรณ์เช่นเดิม

ประเด็นที่สอง ซึ่งคนให้ความสนใจ และชื่นชม คณะกรรมการ กขค. เป็นอย่างมาก คือ การระบุให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากเอสเอ็มอี (SMEs) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งซีพี จะต้องไปพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง และข้อนี้จะเป็นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ และ เกิดการจ้างงาน ซึ่งคาดว่า จะส่งผลบวกให้เกษตรกร และ เอสเอ็มอี ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ได้ประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายในตลาดค้าปลีกในครั้งนี้

ประเด็นที่สาม คือ บริษัทที่เข้าซื้ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ดังนั้น จะมีกฎข้อบังคับเรื่องความโปร่งใส ทุกบริษัทมีผู้ถือหุ้น ดังนั้น การออกหลักเกณฑ์ ห้ามมิให้ผู้หน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า ถือเป็นการเน้นย้ำอีกครั้ง แต่คู่ค้า และผู้บริโภคก็สบายใจได้ เพราะอย่างไรก็ไม่มีบริษัทใดกล้าละเมิดเรื่องดังกล่าว

ประเด็นที่สี่ ซึ่งถือเป็นข้อที่คู่ค้าของเทสโก้เดิมต่างออกมาชื่นชมคณะกรรมการ กขค. คือ การบังคับให้คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะสามารถทำธุรกิจได้เช่นเดิม ในเงื่อนไขเดิม เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นธรรมกับคู่ค้า และยังเปิดช่องให้คู่ค้า หากคู่ค้าร้องขอให้เปลี่ยนถ้าเป็นประโยชน์กว่าอีกด้วย

ประเด็นที่ห้า เป็นเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องให้ เอสเอ็มอี อย่างที่ทราบว่า เศรษฐกิจตกสะเก็ด ดังนั้น หลักเกณฑ์ข้อนี้ เป็นการ สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ได้เงินเร็วขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น ด้วยการกำหนดระยะเวลา การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงิน เป็นระยะเวลา 3 ปี

ประเด็นที่หก คณะกรรมการยังขอติดตามผลได้ตลอดเวลาด้วยหลักการที่ว่า ผู้ซื้อกิจการต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ประเด็นที่เจ็ด ประเด็นสุดท้าย ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจ กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทำให้ทุกคนสบายใจได้ว่า จะปฏิบัติตาม และเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

วันนี้ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการ คู่ค้า ลูกค้า ต้องมีช่องทางจัดจำหน่าย และมีความต่อเนื่อง การขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และ มาเลเซีย เป็นความจำเป็นจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายอย่าง ทำให้เทสโก้ ได้ขายเทสโก้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็มีความเสี่ยง หากเศรษฐกิจจะสะดุด ดังนั้น ความราบรื่นของดีลนี้ กับเงื่อนไขที่ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ จึงเป็นทางออก ที่นอกจากรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการรักษาการจ้างงาน ส่วนคนที่รับภาระหนักคือ ซีพี ที่ซื้อมาในราคาสูง ซึ่งเป็นราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนช่วงโรคระบาดโควิด นอกจากนี้ ยังกระทบต่อแผนธุรกิจและลูกค้าที่ลดน้อยลง รวมถึงผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ของซีพี ในการพลิกธุรกิจ และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถึงแม้จะยาก และหิน แต่หากซีพีทำสำเร็จ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ และ เติบโตพร้อมกันทุกฝ่าย อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น