ธุรกิจอสังหาฯ เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในแต่ละปีมูลค่าการลงทุนสูงนับแสนล้านบาท และถือเป็นธุรกิจต้นน้ำของในหลายๆ ธุรกิจ ซึ่งหากนับรวมมูลค่าการลงทุนในภาคอสังหาฯกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องมูลค่าต่อปีอยู่ในระดับล้านล้านบาท การชะลอตัวของภาคธุรกิจอสัหาฯ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักๆ นอกเหนือจากการชะลอตัวในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยว และสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง
ทั้งนี้ การเกิดภาวะชะลอตัวในตลาดอสังหาฯนั้น สาเหตุหลักๆ เริ่มต้นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เพื่อสกัดการเก็งกำไรจากนักลงทุนระยะสั้นในธุรกิจอสังหาฯ และแก้ปัญหาเงินทอนสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียม
อย่างไรก็ตาม การหดตัวของภาคธุรกิจอสังหาฯ นั้นส่งผลต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ และด้วยความสำคัญของธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจค้าปลีกที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุผลที่หลักรัฐบาล ได้ส่งหนังสือเชิญภาคธุรกิจอสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก สมาคมศูนย์การค้าไทย และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เข้ามาร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละธุรกิจในปัจจุบัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเวทีให้สมาคมอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทอสังหาฯ และสมาคมค้าปลีก นำเสนอวิสัยทัศน์และความคิดเห็น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยภาคเอกชนที่ได้รับเชิญในครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมผู้ค้าปลีก บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นการร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การวาง "ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
โดยนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า สมาคมอสังหาฯ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยแนวคิดที่จะนำเสนอนายกฯ มีหลากหลายที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาฯ รายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งบางรายมีผลให้ต้องขายกิจการซึ่งรัฐควรมีแนวทางช่วยเหลือที่หลากหลาย เช่น การส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการ โดยการหาผู้ร่วมทุนและแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ ส่วนบริษัทอสังหาฯ ขนาดเล็กที่จำเป็นต้องการขายกิจการจริงๆ สมาคมฯ ได้เสนอให้รัฐลดกติกาและเงื่อนไขในการขายกิจการ เพราะในบางรายไม่สามารถขายกิจการได้ เพราะติดเงื่อนไขการจ่ายภาษี
ชูไทยบ้านหลังที่สองดึง ตปท.ชอปอสังหาฯ
อีกข้อเสนอที่สมาคมฯ ได้เสนอแนะไป คือ การใช้จุดเด่นจากการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ได้ดี ให้เป็นจุดแข็งของตลาดอสังหาฯ ไทยเนื่องจากทั่วโลกยอมรับระบบสุขอนามัยและระบบสาธารณสุขไทย จึงควรใช้จุดเด่นนี้ในการจัดแคมเปญโปรโมตประเทศไทยเป็นเซฟโซน ดึงดูดเศรษฐีจากทั่วโลกและกลุ่มผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง "Thailand Best Second Home" เพื่อแก้ปัญหาสต๊อกคงค้าง อสังหาฯสร้างเสร็จพร้อมอยู่เหลือขายในปัจจุบันเพราะหากต้องพึ่งกำลังซื้อภายในประเทศอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
ส่วนการแก้ปัญหาตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดนั้นได้เสนอให้มีการบริหารจัดการกระจายอำนาจการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัด ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้รวดเร็ว โดยผู้ว่าฯ ต้องหารือกับผู้พัฒนาอสังหาฯ ในจังหวัดของตนเอง และภาคธุรกิจอื่นๆ
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากนับรวมมูลค่าธุรกิจอสังหาฯ กับธุรกิจรับสร้างบ้าน และนับรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น การขับเคลื่อนภาคอสังหาฯ จึงมีผลอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเร็วขึ้น
ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านยังมีโอกาสที่เติบโตเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินและมีความตั้งใจในการสร้างบ้าน เนื่องจากมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า 1-2 ปี และจากข้อมูลของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ดินที่ยังว่างใน กทม.พร้อมจะสร้างบ้าน (ไม่ใช่การพาณิชย์) มีประมาณ 120 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งมีประมาณ 50% อยู่ใน 10 เขตหลักของ กทม.โดยเฉลี่ยการสร้างบ้านต่อคนทั่วประเทศเฉพาะตัวบ้านจะอยู่ที่ 130 ตร.ม. และหากรวมพื้นที่ทั้งหมดจะประมาณ 400 ตร.ม. เฉลี่ยไม่เกิน 100 ตารางวา "อยากให้ภาครัฐมองว่า ตลาดรับสร้างเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์จริงๆ อยากให้รัฐส่งเสริม ไม่ทำให้เกิดฟองสบู่ สร้างแล้วอยู่และใช้ มีมูลค่ารวมสูงถึง 200,000 ล้านบาท และยังมีที่ดินว่างเปล่าสร้างบ้านอีกเยอะ และบ้านที่มีอายุการใช้งาน 30-40 ปี ก็จะมีการปรับปรุงและสร้างใหม่ จากข้อมูลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 300,000 หลัง กลุ่มนี้เราจะทำให้อย่างไรที่จะกระตุ้นให้คิดสร้างใหม่ และยังมีฐานะการออมที่สูง"
โดยตนเสนอว่า 1.ประชาชนที่จะสร้างบ้านในช่วงนี้จะได้รับเรื่องการลดหย่อนทางภาษีบุคคลธรรมดา เช่น ลดหย่อนให้เท่ากับมูลค่า 2% ของมูลค่าก่อสร้างบ้าน แต่ไม่เกินกี่แสนบาทเป็นต้น โดยให้สิทธิในการหักลดหย่อนได้เป็นเวลา 5 ปี แนวทางที่ 2 ในระยะยาว มองว่า เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีส่วนทำให้คนไม่อยากจะซื้อที่ดินเก็บไว้ หรือเก็บไว้ให้เป็นมรดกกับลูกหลาน ตรงรัฐบาลอาจจะกำหนดให้ประชาชนได้มีที่ดินสำหรับปลูกบ้าน เช่น เฉลี่ยทั่วประเทศลดหย่อนไม่เกิน 200 ตารางวาต่อคน อาจไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกินก็จัดเก็บตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
และสุดท้าย การส่งเสริมให้ผู้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านจะต้องมีใบอนุญาตในการทำธุรกิจรับสร้างบ้านซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เกิดความมั่นคง ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังสามารถขยายฐานภาษีได้กว้างขึ้น