สนข.ลุยศึกษาแผนกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ตั้งเป้าวางกติกากลาง โครงสร้างค่าโดยสารร่วม และแนวทางการชดเชยรายได้ ด้าน สศช.ชี้หน่วยงานขับเคลื่อนแผนยังไม่สำเร็จ แนะต้องฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ช่วยขับเคลื่อนทิศทางเดียวกัน วันนี้ (5 พ.ย.) นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” ครั้งที่ 1 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้แนวทางการกำกับการบริหารตั๋วร่วมให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางและใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทุกระบบ
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการศึกษา จะเป็นกำหนดกรอบแนวทางสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาระบบตั๋วร่วมและรูปแบบการชำระเงินประเภท Open-Loop-System บนพื้นฐานการใช้ Account Based Ticketing (ABT) และการรองรับระบบ EMV ในการชำระค่าโดยสาร รวมถึงการใช้งานและชำระเงินกับบริการอื่นๆ นอกภาคขนส่ง (Non-Transit) ได้โดยจะใช้เวลาในการศึกษา 20 เดือน (29 ส.ค. 63 - เม.ย. 65)
ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Interoperability หรือการใช้บัตรข้ามระบบรถไฟฟ้า ระหว่าง MRT และ BTS ส่วนในระยะยาว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบเปิด Open-Loopและ EMV
ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานในการบริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ที่ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้งาน “บัตรแมงมุม” จึงยังมีปัญหาบางประการในการเข้าร่วมระบบ อีกทั้ง หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ยังไม่ได้มีการเจรจาเชิงธุรกิจ ในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) ซึ่งจะใช้เป็นอัตราค่าโดยสารสำหรับการใช้บริการ ระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ และทางด่วน
โดยใช้งบประมาณศึกษา 34.5 ล้านบาท ศึกษาใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตั๋วร่วมของประเทศไทย ให้รองรับการชำระคำโดยสารด้วยบัตรแมงมุมบัตร MRT Plus บัตร MRT บัตร Rabbit และบัตรอื่นๆ รูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ตลอดจนในอนาคตสามารถพัฒนาจากระบบClosed-loop เป็นบริการบนระบบ Open-loop และการชำระเงินและบริการนอกระบบ (Non-Transit)
2. จัดทำแผนการกำกับดูแลการบริหารงานระบบตั๋วร่วมที่ชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 3.ทำระบบโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) ของระบบขนส่งมวลชนที่จะจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการ โดยมีค่าธรรมเนียมของระบบตั๋วร่วมที่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้บริการ 4. ศึกษารูปแบบเงินทุนและกลไกด้านการเงินของภาครัฐในการชดเชยรายได้จากค่าโดยสารและสนับสนุนการพัฒนา ระบบตั๋วร่วมอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม 5. จัดทำร่างกฎหมายในการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...)
ด้านผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาข้อมูลสำหรับพิจารณาตัดสินใจยังไม่ชัดเจน ซึ่งระบบตั๋วร่วมมีการพัฒนามาเกือบ 20 ปีแล้ว มีโรดแมปแต่ยังไม่สำเร็จ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ สนข.ควรนำบทเรียนที่ผ่านมาพิจารณา ว่าผู้เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ ประชาชน เอกชน แต่ละส่วนมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเหมือนกันหรือไม่ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่สามารถทำตามแผนได้ จึงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำโรดแมปใหม่ และควรให้ความสำคัญในการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน
นายสมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้จัดการโครงการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างพัฒนาตั๋วร่วมในรูปแบบ Interoperability หรือการใช้บัตรข้ามระบบรถไฟฟ้าระหว่าง MRT และ BTS หากไม่มีข้อติดขัดคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ปี 2564 ส่วนการพัฒนาเป็นระบบเปิดและรองรับระบบ EMV ด้วยนั้นคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง