“จุรินทร์” ย้ำไม่มีนโยบายเปิดนำเข้าหมูมีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ แม้จะถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว 231 รายการ เหตุต้องคำนึงเรื่องสุขภาพคนไทย และผู้เลี้ยงหมูในประเทศ ยันการถูกตัด GSP ล่าสุดกระทบแค่ 147 รายการ มีภาระภาษีเพิ่ม 600 ล้านบาท แต่ไม่น่ากังวล เหตุมีการเตรียมรับมือล่วงหน้า ทั้งการแข่งเรื่องคุณภาพ และหาตลาดใหม่เพิ่ม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทย 231 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เพราะไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนตกค้างจากสหรัฐฯ ว่า ไทยยังไม่มีนโยบายเปิดตลาดนำเข้าสินค้าดังกล่าว เพราะต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนในประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศที่มีจำนวนมาก และเรื่องการเปิดตลาดนำเข้าต้องคุยกันหลายกระทรวง ไม่เฉพาะกระทรวงพาณิชย์ เพราะเกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียวคงไม่สามารถพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ได้ แต่ขณะนี้ ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายเปิดตลาดนำเข้าแน่นอน
สำหรับประเด็นที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดโอกาสให้ไทยหารือ และชี้แจงกรณีการตัดสิทธิ GSP นั้น ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประสานงาน แต่ที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับ USTR มาโดยตลอดอยู่แล้ว
ส่วนการตัด GSP สินค้าไทย 231 รายการ ขอเรียนว่ายังมีบางท่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่ามูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 2-3 หมื่นล้าน ความจริงแล้วไม่ใช่ ข้อเท็จจริงคือ การที่สหรัฐฯ ตัด GSP ครั้งล่าสุดจะกระทบสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวน 147 รายการเท่านั้น หมายความว่าต่อไปนี้เวลาไทยส่งสินค้า 147 รายงานไปสหรัฐฯ จากเดิมไม่ต้องมีการเสียภาษีนำเข้า ก็ต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณ 3-4% ทำให้มีภาระประมาณ 600 ล้านบาท ไม่เกินนั้น นี่จะเป็นผลกระทบที่เป็นตัวเงินที่เป็นภาระ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ทราบเหตุการณ์นี้มาล่วงหน้าแล้วจึงได้มีการทำงานร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าจะหาลู่ทางในการแข่งขันในสินค้า 147 รายการกับสินค้าของประเทศอื่นที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้อย่างไร สุดท้ายได้คำตอบว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขันเรื่องราคา แม้จะต้องมีภาระภาษี 600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมาก็ตาม แต่จะแข่งในเรื่องคุณภาพ และความเชื่อถือได้ของสินค้าจากประเทศไทย มั่นใจว่าสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้อยู่แล้ว ประกอบกับต้องหาตลาดประเทศอื่นเพิ่มเติมซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวล