“พาณิชย์” ชี้แจงกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติมอีก 231 รายการ อ้างเหตุไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง มีผล 30 ธ.ค. 63 ยืนยันไทยยังส่งออกได้ปกติ แค่ภาษีเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบจริงแค่ 147 รายการ คิดเป็นภาษีที่เสียเพิ่ม 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ล้านบาท ระบุที่ถูกตัดสิทธิไปก่อนหน้า 573 รายการ มีผลกระทบจริง 315 รายการ แถมการติดตามผลพบสินค้ายังส่งออกได้ดีในสหรัฐฯ และแก้เกมส่งออกไปตลาดอื่น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นรายประเทศ โดยได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยรวม 231 รายการ ว่า การตัดสิทธิในครั้งนี้สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าการเปิดตลาดสินค้าไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป ทำให้สินค้าไทยต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้
ทั้งนี้ ในการตัดสิทธิ GSP ดังกล่าวมีสินค้าไทยที่ใช้สิทธิจริงจำนวน 147 รายการ มีมูลค่าการนำเข้าในสหรัฐฯ ประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติประมาณ 3-4% มูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
“การถูกตัดสิทธิ GSP ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะถูกห้ามส่งออกไปสหรัฐฯ ไทยยังส่งออกไปได้ปกติ แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ และผลกระทบก็ไม่ใช่ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจำนวน 147 รายการจากไทย แต่ที่กระทบจริงก็แค่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ล้านบาท หากสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างการยอมรับ เชื่อว่าแม้ภาษีจะสูงขึ้นแต่คงไม่มีผลต่อการส่งออก และผู้นำเข้าสหรัฐฯ ก็จะยังต้องการสินค้าไทยเหมือนเดิม” นายกีรติกล่าว
สำหรับมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิ GSP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย กระทรวงพาณิชย์มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง และยังได้ประสานสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้ความช่วยเหลือด้านการส่งออก สินเชื่อ และการเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งได้เปิดช่องทางในการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับแจ้งเรื่องผลกระทบจากผู้ประกอบการผ่านไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “GSP_helper” หรือสายด่วน 1385
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ติดตามผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยในช่วงปลายปี 2562 และมีผล เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา จำนวน 573 รายการ ซึ่งมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจริง 315 รายการ โดยพบว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดสิทธิไปสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 10% แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากการถูกตัด GSP หรือผลกระทบจากโควิด-19 เพราะจากการตามดูสินค้า 1 ใน 20 รายการ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นมี 10 รายการจาก 315 รายการที่ถูกตัดสิทธิส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องสุขภัณฑ์ ผ้าผืน ธงชาติ เครื่องล้างจาน ผลไม้ เช่น ลิ้นจี้ ลำไย และหัวเทียน เป็นต้น แสดงว่าผลจาก GSP ไม่ได้รุนแรง แต่เมื่อดูรายการที่ลดลงของ 315 รายการ พบว่ามีการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น แว่นตา ตะปู พัดลม แผงสวิตช์และควบคุมไฟฟ้า เครื่องจักสาน น้ำผลไม้ โดยส่งออกไปยุโรป จีน ฮ่องกง และเอเชียเพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ส่งออกมีการปรับตัวหันไปพึ่งพาตลาดอื่นได้ดีขึ้น