กรมการค้าต่างประเทศเผยรัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายเกี่ยวกับการแจ้งส่วนผสมสารให้ความหอมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีผลบังคับ 1 ม.ค. 65 แจ้งผู้ประกอบการศึกษาป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงนามในกฎหมาย The Cosmetic Fragrance and Flavor Ingredient Right to Know Act of 2020 ซึ่งเกี่ยวข้องกับส่วนผสมของสารแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น มอยส์เจอไรเซอร์สำหรับริมฝีปาก รองพื้น อายไลเนอร์ ผลิตภัณฑ์แชมพู ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ ครีมกันแดดที่มีน้ำหอม เป็นต้น โดยผู้ผลิตเครื่องสำอางที่จำหน่ายในรัฐแคลิฟอร์เนียจะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนผสมของสารให้ความหอมในผลิตภัณฑ์ต่อกองควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้ 1. รายชื่อส่วนผสมของน้ำหอมแต่ละชนิดหรือส่วนผสมของกลิ่นที่อยู่ในรายการที่กำหนดที่พบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พร้อมกับหมายเลข CAS number 2. รายชื่อสารก่อภูมิแพ้ของน้ำหอมแต่ละชนิดตามภาคผนวก III ของกฎระเบียบเครื่องสำอางของสหภาพยุโรป (EU Cosmetics Regulation NO. 1223/2009) และข้อมูลที่เป็นปัจจุบันล่าสุดพร้อมกับหมายเลข CAS number โดยกำหนดค่าความเข้มข้น คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดล้างออกกำหนดค่าความเข้มข้นของสารดังกล่าวเท่ากับหรือมากกว่า 0.01% (100 ppm) และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออกกำหนดค่าความเข้มข้นของสารดังกล่าวเท่ากับหรือมากกว่า 0.001% (10 ppm) 3. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีไว้เพื่อการใช้งานสำหรับช่างเสริมความงามมืออาชีพหรือการใช้งานสำหรับการขายปลีกลูกค้าทั่วไป และ 4. รหัสผลิตภัณฑ์สากล (Universal Product Code : UPC)
ทั้งนี้ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยค่าความเข้มข้นส่วนผสมของสารให้ความหอมเพื่อป้องกันความลับทางการค้าของผู้ผลิต และส่วนผสมของสารให้ความหอมที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่กำหนดหรือในรายการสารก่อภูมิแพ้น้ำหอมของสหภาพยุโรป
จากข้อมูลสถิติการส่งออกไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับผม (Hs Code 3304, 3305) ไปยังสหรัฐฯ ช่วงปี 2560-62 มูลค่า 275.5 571.5 และ 699.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยล่าสุดช่วง 8 เดือน ปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 526.5 ล้านบาท ลดลง 24.74% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ผลิต ผู้ส่งออก จะต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า