ส.อ.ท.เผยทิศทางภาคธุรกิจเตรียมปรับตัวรับโค้งสุดท้ายปีนี้ยาวถึงกลางปี 2565 เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดก่อน ศก.จะฟื้นตัว หลัง ธปท.ระบุกลางปี 2565 เล็งแผนลดต้นทุนธุรกิจโดยเฉพาะลดไซส์องค์กร หันพึ่งเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการผลิตและการตลาดมากขึ้น เร่งตุนเงินสดให้พร้อมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และเกาะติด 4 ปัจจัยเสี่ยงเพื่อให้ทันสถานการณ์
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและโลกยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจนกว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปี 2565 ทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกส่วนรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องปรับตัวในการวางแผนธุรกิจไว้เพื่อรับมือให้อยู่รอด โดยมุ่งเน้น 4 แนวทาง ได้แก่ ลดค่าใช้จ่าย ดึงเทคโนโลยีเข้าบริหารจัดการ ตุนเงินสด และติดตามปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและต่างประเทศใกล้ชิด
“ธุรกิจคงจะต้องวางแผนกันไว้ล่วงหน้าว่าจะรับมืออย่างไรหากเศรษฐกิจโลกและไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งคงจะต้องมอง 3 เดือนเร่งด่วนก่อนสิ้นปีนี้ ระยะกลางคือปี 2564 และยาวคือช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไปเพื่อให้ระหว่างทางนี้ธุรกิจจะอยู่รอดได้จนถึงเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับการลดต้นทุนนั้น ส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นการลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปจากกำลังซื้อที่ลดต่ำทำให้สต๊อกสินค้ายังคงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากโควิด-19 ซึ่งจะต้องวางแผนมองให้ยาวไปจนถึงกลางปี 2565 หรือราว 24 เดือน ว่าระหว่างนี้จะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งการลดต้นทุนส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นการลดกำลังแรงงานให้สอดรับกับธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีเงินทุนพอจะพยายามรักษาแรงงานไว้ให้มากสุดแทนการปรับลด แต่การรับแรงงานใหม่เพิ่มมีแนวโน้มต่ำ ยกเว้นธุรกิจที่ได้รับผลบวกจากโควิด-19 เช่น วัสดุทางการแพทย์ ถุงมือยาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีในการนำมาเสริมการตลาดใหม่ๆ ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเพื่อการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ได้มุ่งเน้นที่จะดึงเทคโนโลยีต่างๆ มาบริหารจัดการในการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่แล้วและจะเร่งตัวมากขึ้นในระยะต่อไป นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งจะเข้าไปทดแทนแรงงานด้วย ดังนั้น ภาคแรงงานเองก็ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงไว้รับมือด้วยเช่นกัน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ธุรกิจยังต้องหาแนวทางในการดูแลสภาพคล่องไว้รองรับมือกรณีที่ตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากจึงจำเป็นจะต้องหาสถาบันการเงินไว้รองรับเสริมสภาพคล่องให้มากขึ้น โดยอาจจะมาจากสถาบันการเงินของรัฐที่มีมาตรการพิเศษต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อที่จะตุนเงินสดไว้ให้มากสุดซึ่งขณะนี้หลายบริษัทก็มุ่งไปในทิศทางดังกล่าวมากขึ้น
ประการสุดท้าย คือ การที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด นั่นรวมถึงสถานการณ์การเมืองของไทยด้วยเพื่อที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในการนำมาปรับตัวอย่างทันท่วงที โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมุ่งเน้นติดตาม ได้แก่ 1. การไม่ต่อมาตรการยืดการชำระหนี้ของ ธปท.ซึ่งอาจทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนล้มหายและจะกระทบในแง่ของการชำระเงินที่เป็นลูกโซ่มายังลูกค้า 2. การกลับมาระบาดโควิด-19 รอบสองทั่วโลก และไทย ที่ขณะนี้เพื่อนบ้านอย่างพม่ากำลังเกิดการระบาดอย่างหนัก หากควบคุมไม่ดีจะเกิดผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย 3. การเมืองไทยหากนำไปสู่ความรุนแรงอาจส่งผลกระทบ 4. การเมืองต่างประเทศโดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ สงครามการค้า (เทรดวอร์) จะเข้มข้นหรือไม่อย่างไร เป็นต้น