CIMB ห่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง หลังต่างประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง อาจฉุดส่งออกไทยไตรมาสสุดท้ายหดตัวแรง ขณะที่การเมืองยังบั่นทอนความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และคาดว่าทั้งปีจะติดลบน้อยลง จากเดิมคาดว่า -8.9% เป็น -7.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่สิ่งที่น่ากังวัล คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ต่อเนื่องเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส
ทั้งนี้ มองว่าไตรมาส 3 จีดีพี -8% และไตรมาส 4 จะ -8% ถึง -9% เนื่องจากกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบของหลายเมืองในต่างประเทศ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพุ่งสูง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทยให้หดตัวแรงอีกครั้ง นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศเริ่มแผ่วลง ขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศกระทบต่อความเชื่อมั่นการบริโภคและความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐขณะนี้เป็นเพียงการช่วยประคองเศรษฐกิจเท่านั้น
นายอมรเทพ กล่าวว่า ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ควรใช้มาตรการทางการคลังเพิ่มเติม โดยเฉพาะนโยบายการจ้างงาน และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่นอกเหนือจากมาตรการลดค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก รวมทั้งอาจพิจารณาใช้นโยบายลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่ม โดยควรเป็นมาตรการที่ง่ายกว่าช้อปดีมีคืน ควบคู่กับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปีจนถึงปี 2564 และหากจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินเพิ่มก็ยังมีเครื่องมืออื่น เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF การผ่อนปรนเงื่อนไงปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายขึ้น รวมทั้งการขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยช่วยลูกค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 2.8% โดยตัวเลขจีดีพีจะกลับมาเป็นบวกได้ไตรมาส 2/2564 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปี 2564 จะมีประมาณ 6 ล้านคน โดยจะเริ่มเดินทางเข้ามาไทยได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง และจะใช้เวลา 2 ปี ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงจะฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19