xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดกลยุทธ์ปักธง 4 ธุรกิจ หนุนโตยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดกลยุทธ์ธุรกิจลงแข่งในสนามที่ถนัดและมีจุดแข็ง ปักธงเป็นธนาคารอาเซียนชั้นนำในไทย ใช้ดิจิทัลสร้างความต่าง รักษาความเป็นผู้นำธุรกิจบริหารเงินและธุรกิจรายย่อย

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)
เปิดเผยว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนั้น ธนาคารคาดการณ์สินเชื่อเติบโตได้ 0 ถึง -5% จาก 9 เดือนแรกของปีที่ -2.7% มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ 3.2% จากปีก่อนที่ 3.5% เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ต่ำในปีนี้ และอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 1-5% จากปีก่อนที่ 5% เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ (Cost to Income) 65% หรือมากกว่า (จากปีก่อนที่ 63.5%) เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านดิจิทัล

"ถ้าพิจารณาจากในช่วงก่อนหน้าปี 2016 ผลการดำเนินงานของเรามักจะอิงกับรายการพิเศษ แต่ในปี 2016-2017 เริ่มเห็นผลประกอบการที่มาจากการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง ต่อมา ปี 2018-2019 เป็นช่วงการทำ Fast Forward และในปีนี้จึงเป็นการเก็บเกี่ยวจากการทำ Fast Forward ทำให้เรารู้ว่าควรโฟกัสที่จุดไหน และมุ่งเน้นไปได้ตรงจุด แต่ก็จะยังดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่การบริหารจัดการด้านเอ็นพีแอลนั้น ในเร็วๆ นี้จะมีการขายออกไปบางส่วนประมาณ 3,000 ล้านบาท ก็จะทำให้ตัวเลขลดลงจากระดับ 5.9% ในช่วง 9 เดือนแรกมาอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่บริหารจัดการได้และไม่เป็นภาระหนักในการตั้งสำรองมากนัก"

ทั้งนี้ ธนาคารวางกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญต่อธุรกิจที่ประเมินแล้วว่าจะสร้างรายได้ การเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ธนาคาร ได้แก่ ธุรกิจรายใหญ่ ที่จะอาศัยเครือข่ายที่แข็งแกร่งในอาเซียนของกรุ๊ปในการนำพาลูกค้าขยายฐานออกไปสู่ต่างประเทศได้มากขึ้น กลุ่มลูกค้ารายย่อยในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัทในเครือได้แก่ บริษัทเวิลด์ลีส จำกัด และบริษัท ซีไอเอ็มบีไทย ออโต้ จำกัด พร้อมกันนั้น จะเดินหน้าธุรกิจบริหารความมั่งคั่งที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วให้ขยายวงกว้างไปมากขึ้นซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนสาขาให้รองรับกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นและเปิดเพิ่มอีกในปีหน้า และการมุ่งสู่การเป็น Digital Banking ทั้งในส่วนของขั้นตอนการทำงานหลังบ้าน และการเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชันของธนาคารประมาณ 30% จากลูกค้ารวมที่เกือบ 7 แสนราย

และธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) นั้น ธนาคารเป็นผู้นำตลาดทั้งในฐานะผู้บุกเบิกตลาดและผู้จัดจำหน่าย ความเป็น Market Maker ของดอกเบี้ยอ้างอิง THOR และหุ้นกู้ตลาดรอง และล่าสุดกับการขยับครั้งสำคัญโดยลูกค้าสามารถซื้อขายตราสารหนี้ผ่านแอปพลิเคชันได้แล้ว และกำลังจะเพิ่มบริการซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรอง อัตราแลกเปลี่ยน และบริการคัสโตเดียนบนแอปเร็วๆ นี้

นายสุธีร์ กล่าวอีกว่า การปรับกลยุทธ์ของธนาคารครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนพอร์ตเปลี่ยนไปโดยจะเน้นในกลุ่มของสินเชื่อรายใหญ่ที่ปัจจุบัมีสัดส่วนอยู่ 30% ของพอร์ตรวม หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท จากใน 9 เดือนที่มีการเติบโตน้อยเนื่องจากลูกค้าชะลอการลงทุน กับสินเชื่อรายย่อยที่มีสัดส่วนอยู่เกิน 50% ของพอร์ตรวม หรือประมาณแสนล้านให้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขที่ชัดเจน

"นับจากนี้ CIMB THAI จะตอกย้ำจุดแข็งของตัวเองด้าน Treasury Retail Wealth Wholesale และก้าวไปสู่การเป็น ‘DIGITAL-LED BANK WITH ASEAN REACH’ CIMB THAI จะเปรียบเหมือนบ้านที่รวบรวมคนทำงานที่เก่งและเชี่ยวชาญ และเป็นธนาคารขนาดกลางที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด"

สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน กลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีกำไรสุทธิ 1,467.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 464.5 ล้านบาท หรือ 46.3% จากปีก่อน มาจากรายได้การดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารทั้งส่วนหน้าบ้านหลังบ้านจะเฝ้าติดตามช่วยเหลือลูกค้าให้ทำธุรกิจได้เป็นปกติ โดยฐานะเงินกองทุนของธนาคารเข้มแข็งมาก BIS ratio เกือบ 20% สูงกว่าที่ทางการกำหนดไว้เกือบ 2 เท่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จจากการวางรากฐานของโครงการ Fast Forward การปรับกระบวนการทำงานทุกๆ ด้าน และส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น