xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” ดัน ครม.สัญจร 3 พ.ย.บูม ศก.ใต้ ชูไทยศูนย์กลางยางพาราโลก-มารีน่าฮับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เตรียมยื่นข้อเสนอ 6 ด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ต่อการประชุม ครม.สัญจร 3 พ.ย.นี้หวังเร่งเครื่องไทยแลนด์กรีนรับเบอร์ยกระดับอุตสาหกรรมยางไทยสู่สากลดันไทยศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราโลก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมมารีน่าส่งเสริมท่องเที่ยวทางทะเล ระยะเร่งด่วนหวังรัฐเร่งแก้หนี้เอสเอ็มอี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) ได้เตรียมเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งในส่วนของ ส.อ.ท.ได้เตรียมนำเสนอ ได้แก่ การขอให้ภาครัฐขับเคลื่อนไทยแลนด์กรีนรับเบอร์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางไทยสู่สากลเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก

“อุตสาหกรรมยางพาราเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 1.7 ล้านคน และยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้จากการส่งออกของไทยมูลค่าเฉลี่ยกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารามากขึ้นเอกชนต้องการให้รัฐบาลมีการแก้ไขระเบียบในการแปรรูปยางพาราให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย หรือ Made in Thailand มีการส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืนเป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือ “PEFC” เป็นต้น” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ ยังขอให้ภาครัฐเร่งผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมมารีนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% การแก้ไขประกาศกรมศุลกากรจังหวัดภูเก็ต ให้เรือสำราญพำนักอยู่ในประเทศไทย สามารถจอดเรือได้เป็นระยะเวลา 3 ปี และให้เรือที่เจ้าของเรือไม่ได้เข้ามาด้วย สามารถจอดเรือได้เป็นระยะเวลา 3 ปีเช่นกัน พร้อมกันนี้ ต้องการให้รัฐส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือ โดยการเร่งปรับแก้สีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงบริเวณที่ติดทะเลตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้ทำอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือได้ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนสนใจลงทุนหลายราย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ภาคใต้ได้มีการสรุปข้อเสนอโครงการไว้รวม 6 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการเกษตร 2. ด้านการท่องเที่ยว 3. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต 4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 6. มาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยประเด็นเร่งด่วนจะเป็นการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยจะต้องหารือในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
 


นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า ส.อ.ท.ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันได้สรุปแนวทางเพื่อเสนอต่อภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งระยะเร่งด่วนต้องการให้ภาครัฐหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจด้านท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เช่น ขอให้พักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยให้เหลือ 2% เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น

“ขณะนี้เราเปิดให้ต่างชาติเข้ามาบ้างแล้วแต่น้อยมากทำให้ยังคงขาดรายได้หลักมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ โดยขณะนี้ภาพรวมโรงแรมในพื้นที่เปิดได้เพียง 30% เท่านั้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยจะซึมยาวถึงปี 2565 จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาอย่างทั่วถึง ดังนั้น สภาพคล่องธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการที่รัฐควรเข้ามาดูแลเร่งด่วน” นายกิจก้องกล่าว

นอกจากนี้ เอกชนยังขอให้รัฐสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อนำร่องให้เกิดโครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก หรือ Project to turn Phuket Medical Tourism into a World Class Medical and Wellness Tourist Destination เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะมีการก่อสร้าง เช่น ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ เป็นต้น โดยล่าสุดทางกรมธนารักษ์ได้จัดสรรที่ดินไว้พร้อมรองรับแล้วประมาณ 141 ไร่ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่มและยั่งยืน

สำหรับระยะกลางและยาว เห็นว่าภาครัฐควรจะสนับสนุนให้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่จังหวัดพังงา การก่อสร้างรถไฟสายสุราษฎร์-ท่านุ่น เป็นต้น เพื่อรองรับการเดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้เพิ่มขึ้น โดยเห็นว่าโควิด-19 แม้อาจจะต้องใช้เวลาในการคิดค้นวัคซีนมารักษาแต่ก็เชื่อว่าจะไม่เกิน 2 ปีดังนั้นในอนาคตการท่องเที่ยวก็จะกลับมาขยายตัวเช่นเดิม พร้อมกันนี้ต้องการให้รัฐส่งเสริมและ สนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Hub)

“อุตสาหกรรมมารีนาอยู่ในยุทธศาสตร์กลุ่มอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) และยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งภูเก็ตเองมีความพร้อม แต่ละปีมีเรือยอชต์ เรือครุยส์เข้ามาสร้างรายได้ให้มาก แต่ยังติดขัดระเบียบของรัฐบางเรื่อง เช่น กรมศุลกากรทำให้ศักยภาพยังเดินได้ไม่เต็มที่นักระยะเร่งด่วนอาจจะมีการเสนอในเรื่องแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกด้วย” นายกิจก้องกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น