ใกล้ครบ 1 ปี COVID-19 ระบาด กดดันผลดำเนินงานหุ้น “ท่าอากาศยานไทย” ผลดำเนินงานยังไม่เห็นทิศทางฟื้นตัว จากมาร์เกตแคประดับ 1 ล้านล้านบาท เหลือ 7 แสนล้านบาท กูรูคาดไตรมาสสุดท้าย (ตามปีงบประมาณ) ยังติดลบ จะเริ่มเห็นแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งหลังปีหน้า ส่วนเติบโตชัดเจนอาจต้องรอถึงปี 2566
ใกล้จะครบ 1 ปีแล้วสำหรับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เริ่มจากนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2562 และจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทำให้หนึ่งในบริษัทจดทะเบียนซึ่งถูกยกให้เป็นอันดับต้นของประเทศอย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้รับผลกระทบชนิดที่ยังไม่เห็นโอกาสในการฟื้นตัว
จากที่เคยเป็นเจ้าตลาด ผู้ผูกขาดธุรกิจสนามบินของประเทศไทย ซึ่งถูกขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยมเดินทางเข้ามาจำนวนมาก จนเคยสร้างรายได้รวมสูงถึง 6.49 หมื่นล้านบาทในปี 2562 แต่ ณ ปัจจุบัน 3 ไตรมาสรวมกัน (ไตรมาส 1 -3 ของปีงบประมาณ 2563) ยังทำได้เพียง 3.11 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 3/63 ซึ่งถูกมองว่าได้รับผลกระทบเต็มที่ บริษัทมีรายได้รวมเหลือเพียง 1.74 พันล้านบาท จาก 1.23 หมื่นล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า และ 1.55 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 ปีก่อน
ขณะเดียวกัน การลดลงของผลประกอบการ ยังส่งผลต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทให้ไตรมาสล่าสุดพลิกกลับมา -5.46 พันล้านบาท จาก 4.31 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า จนทำให้ไตรมาส 3/63 ของ AOT มีสถิติการเติบโตต่อไตรมาส -85.85% จาก -28.02% ในไตรมาส 2/63 และกดดันให้การเติบโตต่อปีของบริษัท -88.80% หลังจากอัตรากำไรสุทธิดิ่งลงมาอยู่ที่ -164.24% โดยตัวเลขที่แสดงถึงการหดตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นคืออัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเหลือ 37.83% จากปกติเคลื่้อนไหวที่ระดับ 88%
ก่อนหน้านี้ ในช่วงไตรมาส 4/62 บริษัทเคยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแชร์) 1.06 ล้านล้านบาท แต่จากสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้มาร์เกตแชร์ลดลงเหลือ 7.57 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่ค่า P/E ของหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ 39.31 เท่า จากระดับที่เคยเคลื่อนไหว 42 เท่าในช่วงไตรมาส 4/62 และไตรมาส 1/63
ส่วนราคาหุ้นของบริษัท พบว่า ตั้งแต่ปีราคาหุ้นของ AOT ปรับตัวลดลงไปแล้วประมาณ 27.00 บาทต่อหุ้น หรือ 34.50% จากราคาต้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 75.25 บาทต่อหุ้น (2 ม.ค.63) แต่พอสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในประเทศเริ่มส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน จนกดดันให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด ยิ่งทำให้ราคาหุ้น AOT ดิ่งลงต่ำสุดที่ระดับ 47.00 บาทต่อหุ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค.
จากนั้นราคาหุ้นเริ่มรีบาวนด์กลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 62.00 บาทต่อหุ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย.-พ.ค.หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย และสามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศซึ่งที่ผ่านมาได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อถูกภาครัฐควบคุมหรือจำกัดการเข้าประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงทำให้ AOT เป็นอีกบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวอย่างหนีไม่พ้น แม้หลายสายการบินจะกลับมาเปิดให้บริการเส้นภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่รายได้ที่รับมายังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่เคยได้รับในสถานการณ์ปกติ
ที่ผ่านมา หุ้น AOT ถูกวาดความหวังในการฟื้นตัวไว้สูงมาก ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อวรัส COVID-19 ทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลายลง จนทำให้รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น แต่สถานการณ์ในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มกลับมาเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดรอบ 2 ของเชื้อไวรัส COVID-19 จนทำให้การเดินทางทางอากาศถูกกดดันอย่างมาก จนนำไปสู่คำถามว่า “จริงๆ แล้ว AOT จะสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นหุ้นยอดนิยมได้เมื่อไหร่?” และ “ราคาหุ้น AOT ในปัจจุบันเหมาะสมสำหรับการเข้าซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวหรือไม่?”
จากคำถามดังกล่าว ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาที่แผนดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยล่าสุด จากการที่ ศบค. เริ่มมีนโยบายผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวที่มาพำนักในไทยในระยะยาว สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เพื่อช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น
ล่าสุด AOT ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่งในประเทศไทย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับนักเดินทางที่จะเพิ่มมากขึ้น ตามมาตรการผ่อนคลายการเดินทางของรัฐบาล โดยจากจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในปัจจุบันประมาณ 1,000-2,000 คน จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น AOT จะต้องให้ความร่วมมือกับ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดเตรียมพื้นที่ และเครื่องมือในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางให้พร้อมเทียบเท่ากับสนามบินชั้นนำในภูมิภาค เช่น สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังเร่งพัฒนาการตรวจคัดกรองนักเดินทางให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 10,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ AOT ได้เปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการซ่อมบำรุง Runway และ Taxiway ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 700,000 ตารางเมตร และถูกใช้งานอย่างหนักตลอดกว่า 10 ปี เนื่องจากสนามบินทุกแห่งของบริษัทเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้บริหาร เชื่อว่าในช่วงปีนี้ถึงกลางปี 2564 ซึ่งสถานการณ์ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบให้จำนวนเที่ยวบินมีระดับไม่ถึงร้อยละ 30 ของขีดความสามารถการรองรับทั้งหมด
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท และหากวัคซีนรักษา COVID-19 สามารถผลิตออกมาได้ในช่วงกลางปี 2564 จะสามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ถึงเดือน มิ.ย.2564 แต่หากยังไม่สามารถผลิตได้ บริษัทจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้นเพื่อมาช่วยในการบริหารจัดการ และเสริมสภาพคล่องโดยแผนการดำเนินการในปี 2564 นั้น AOT มีแผนลงทุนวงเงินประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้จากการเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) นั้น ปัจจุบัน บริษัทมีผู้โดยสารภายในประเทศรวมทั้งหมดประมาณ 80,000-90,000 คนต่อวัน ทำให้มีรายได้จาก PSC เฉลี่ย 100 ต่อคน รวมรายได้ประมาณ 8-9 ล้านบาทต่อวัน หรือ 240-270 ล้านบาทต่อเดือน
ไม่เพียงเท่านี้ ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ออกไปอีก 1 ปี 3 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565 เนื่องจากประเทศไทยยังคงกำหนดมาตรการที่จำกัดการเดินทางและการขนส่งทางอากาศ ขณะที่ผู้ประกอบการและสายการบินยังไม่สามารถฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ
โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบ 19 จะทำให้ AOT มีรายได้ปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 ในอัตรา 42.21% และในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ในอัตรา 188.13% และยังส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวสู่ทิศทางขาลงอีกครั้ง
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินทิศทางการดำเนินธุรกิจของ AOT ว่าผลประกอบการไตรมาส 4/63 อาจขาดทุน 2.85 พันล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงไตรมาส 3 ที่ ขาดทุน 2.93 พันล้านบาท หลังผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้น และคาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นในอนาคตก่อนจะกลับมาปกติในช่วงไตรมาส 3 ปีงบประมาณหน้า โดยคาดว่าผู้โดยสารในประเทศจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดลดลง 45.5% แต่เพิ่มขึ้น 463% จากไตรมาสมาสก่อน ในขณะที่ผู้โดยสารต่างชาติคงที่ลดลง 99.1% และเมื่อรวมจำนวนเที่ยวบินทั้งในและนอกประเทศแล้ว คาดว่ารายได้ในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น 188.3% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 แต่รายได้จะฟื้นตัวจำกัดจากส่วนแบ่งของ APPS และค่าสัมปทานที่ลดลงจากร้านอาหารที่กลับมาเปิด แต่ส่วนของ Duty Free ที่มากกว่ายังปิดให้บริการทำให้รายได้เพิ่มขึ้นราว 700 ล้านบาท เทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการให้เกษียณราว 100 ล้านบาท OPEX ที่เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท และการบันทึกกลับค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงาน จึงมองว่าการตัดจำหน่ายของสนามบินหาดใหญ่จะเพิ่มขึ้นหลังจากมีผลขาดทุนต่อเนื่องต่ออีกหลายปี เป็นความเสี่ยงเชิงลบต่อประมาณการของของบริษัท โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 64.00 บาท
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเมินว่า การจราจรทางอากาศจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะก่อน COVID-19 ในปี 2566 โดยคาดว่าวัคซีนจะสามารถใช้ได้แพร่หลายในเดือนกรกฎาคม 2564 และจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 64 เป็นต้นไป ส่วนในระยะสั้น เชื่อว่าการจราจรทางอากาศในประเทศจะฟื้นตัวเร็วกว่าระหว่างประเทศ เนื่องจากการปิดพรมแดนของไทย สำหรับ AOT การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการจราจรระหว่างประเทศในปี 66 น่าจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 98% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการจราจรระหว่างประเทศมีรายได้ค่าบริการผู้โดยสาร (PSC) 700 บาทต่อผู้โดยสารเทียบกับ 100 บาทต่อผู้โดยสารในประเทศ
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำ “ถือ” และราคาเป้าหมายที่ 59.00 บาท โดยประเมินผลการดำเนินงานปกติ ไตรมาส4/63 (ก.ค.-ก.ย.) จะขาดทุน 3.0 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่เคยคาด ลดลงมากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ดีขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้า ที่ขาดทุน 3.6 พันล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่ -79% จาก COVID-19 และการปิดน่านฟ้า ส่วนขาดทุนสุทธิในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.0 พันล้านบาท โดยคาดว่ากรมธนารักษ์จะให้ส่วนลดค่าเช่าที่ราชพัสดุราว 1.0 พันล้านบาท (อยู่ระหว่างการพิจารณา)
ดังนั้น ยังคงประมาณการผลการดำเนินงานรวมทั้งปี 2563 จะมีกำไรสุทธิ 6.0 พันล้านบาท ลดลง 76% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปี 2564 ยังคงประเมินขาดทุนสุทธิ 3.7 พันล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะลดลงเหลือ 40 ล้านคน หรือลดลง 45% จากปีก่อน ส่วนปี 2565 จะพลิกกลับมามีกำไร 1.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 105 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 163% จากปีก่อนหน้า