ผู้จัดการรายวัน360-นายกเมืองพัทยา เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนขับเคลื่อนแผนนีโอพัทยาผ่าน 7 โครงการนำร่องภายใต้กรอบวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อทำพัทยาให้เป็นมหานครระดับโลกที่มีความน่าอยู่-น่าเที่ยว-น่าลงทุนอย่างยั่งยืน
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี กล่าวถึง แผนงานและโครงการี่จะดำเนินการต่อไปในปี 2564 ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ว่า ได้เตรียมแผนงานและโครงการที่จะพัฒนาเมืองพัทยาไปสู่ความเป็น “นีโอพัทยา” เพื่อทำให้พัทยาเป็นมหานครที่น่าเที่ยว-น่าอยู่อาศัย และน่าลงทุนเอาไว้พร้อมแล้ว 7 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณดำเนินการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
รายละเอียดของโครงการลงทุนทั้ง 7 โครงการ แบ่งเป็น โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วย 1. โครงการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมโยธาธิการ จัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งทางระบายน้ำ เป็นระยะทาง 110 กม.และบ่อหน่วงน้ำขนาดยักษ์ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณแบบบูรณาการ จำนวน 17,800 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปัญหาน้ำท่วมน้ำขังของเมืองพัทยาถูกแก้ไขให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ปัจจุบันเมืองพัทยาได้ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณรอบนอกของเมืองพัทยา ช่วงถนนเลียบทางรถไฟเป็นจุดดักน้ำ เสริมด้วยการจัดทำบ่อหน่วงน้ำ และส่งน้ำผ่านท่อขนาดใหญ่ ขนาด 1.80 ม.ตลอดความยาวชายหาด สามารถช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาได้ 70-80%
2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย จากวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร วงเงินงบประมาณ 750 ล้านบาท โดยร่วมกับสำนักงานอีอีซีดำเนินการปรับปรุงพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียให้มีขีดความสามารถบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเลหมดไปเท่านั้น แต่น้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดจะถูกป้อนเป็นน้ำดิบแก่ภาคอุตสาหกรรม ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
3. โครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบโมโนเรล เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ 3 สายทาง รวมระยะทาง 34 กม.วงเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ในรูปแบบโครงการร่วมลงทุน PPP องค์กรธุรกิจเอกชนปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจออกแบบเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางของประชาชนและลดความแออัดของการจราจร ตลอดจนมลพิษทางอากาศในเมืองพัทยาไปได้มาก
4. โครงการพัฒนาแผนแม่บทดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศเมืองพัทยา วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำแผนแม่บทดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสารเมืองพัทยา (ระยะเวลา 5 ปี) เพื่อยกระดับเทคโนโลยี (Digital Transformation) ใน 5 ยุทธศาสตร์ 1. พัฒนาคน 2.พัฒนาบริการ 3. พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล 4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยดิจิทัล
5. ส่งเสริมการจัดการองค์กรดิจิทัลสมรรถนะสูง เป้าหมายคือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการและให้บริการประชาชน และพัฒนาไปสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่หรือ Big Data เชื่อมต่อกับทุกระบบการทำงาน โดยจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ มุ่งตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ สังคม ด้านคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านระบบสาธารณสุข ด้านการศึกษา ครอบคลุมในทุกมิติผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันกับเมืองพัทยา
สำหรับอีก 3 โครงการ จะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเมืองยิ่งน่าเที่ยว ประกอบด้วย 5. โครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดนาเกลือ หรือนีโอนาเกลือ หรือ โอลด์ทาวน์นาเกลือ วงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท ร่วมกับ เทศบาลเมืองบางละมุง เพื่อปลุกตำนานของนาเกลือในอดีตให้กลับคืนสู่ความมีชีวิตชีวาให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไปได้สัมผัส โดยคาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยภายในปี 2565
6. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือพัทยาใต้ หรือท่าเรือบาลีฮาย เชื่อมต่อวอล์คกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร วงเงินงบประมาณ 4,000 ล้านบาทบาท ร่วมกับ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการ ดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือ ศูนย์ธุรกิจการค้า ลานสันทนาการ เชื่อมต่อกับวอล์คกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร เมื่อแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์ธุรกิจและนันทนาการครบวงจรของเมืองพัทยา
7. โครงการนีโอเกาะล้าน วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเกาะล้านครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค ปรับปรุงท่าเทียบเรือ เส้นทางจราจร ถนนหนทาง ปรับปรุงภูมิทัศน์ จุดชมวิว ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยบนพื้นที่เพื่อให้เกาะล้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความพร้อม ชุมชนเกาะล้านได้รับการพัฒนา ชาวบ้านได้รับประโยชน์ และรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตจากการเจริญเติบโตของ อีอีซี. ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
นายสนธยา อธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้ง 7 โครงการซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองพัทยาไปสู่ความเป็นนีโอพัทยาที่สมบูรณ์แบบเป็นโครงการที่เกิดขึ้นบนฐานความร่วมมือกันระหว่างเมืองพัทยากับหลายส่วนราชการภายใต้งบประมาณแบบบูรณาการ และการร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจเอกชนในรูปแบบของ PPและย้ำว่ารูปธรรมของความเป็นนีโอพัทยาจะค่อย ๆ ปรากฏให้ทุกคนได้สัมผัสนับจากปี 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในช่วงเวลา 25 เดือนของการทำหน้าที่นายกเมืองพัทยาได้ช่วยยกภูเขาออกจากอกพี่น้องชาวเมืองพัทยาไปได้เกือบ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะ ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาอาชญากรรม
“ปัญหาขยะถูกจัดการแบบเบ็ดเสร็จด้วยการจัดหาภาคเอกชนให้เข้ามารับเหมารับผิดชอบครบวงจร ตั้งแต่จัดเก็บไปจนถึงการกำจัด ขณะที่ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งบรรเทาไปได้แล้วประมาณ 80% ถูกแก้ไขด้วยการปรับปรุงระบบระบายน้ำที่มีอยู่เดิมให้มีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ทำให้น้ำที่เคยท่วมขังนานเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง เหลือไม่เกิน 45 นาที ส่วนปัญหาอาชญากรรม เราแก้ไขด้วยโครงการฟ้าทะลายโจร”
นายกเมืองพัทยา ชี้แจงว่าโครงการฟ้าทะลายโจร คือ ตู้สีฟ้าที่นำไปติดตั้งในชุมชนซึ่งมีความเสี่ยงหรือความเปราะบางต่อปัญหาอาชญากรรมตามคำแนะนำของคณะกรรมการชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งรวม 9 จุด ใน 8 ชุมชน