บอร์ด กนอ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ติดตามการดำเนินการด้านระบบบำบัดน้ำเสีย กำชับทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดประชุมหารือแผนการระบายน้ำช่วงฤดูฝน ลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่รอบนิคมฯ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการ กนอ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. และผู้บริหาร กนอ ให้การต้อนรับ โดยนายกอบชัย ระบุว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามการดำเนินงานในด้านต่างๆของนิคมฯ พร้อมกับมอบนโยบายด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีในพื้นที่ โดยเน้นด้านการตลาดและนวัตกรรม ที่ใช้วิธีการกระจายสินค้าในการทำการตลาดเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ล่าสุดได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการให้มีตลาดชุมชนในทุกพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้ทำการตลาดฟรี ภายใต้สโลแกนว่า“เศรษฐกิจฟรี สู่ชุมชน”
นายกอบชัย กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีในพื้นที่นิคมฯบางปูแล้ว ยังเป็นห่วงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมฯบางปู ซึ่งกนอ.รายงานว่าได้เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว โดยมีเขื่อนดินรอบนิคมฯ และหากกรณีที่เกิดฝนตก น้ำจะไหลผ่านรางระบายน้ำฝนเข้าสู่บ่อพักน้ำฝน จำนวน 8 บ่อ ซึ่งบ่อพักน้ำฝนและรางระบายน้ำฝนทั่วพื้นที่นิคมฯบางปู มีความสามารถในการรองรับน้ำรวมทั้งสิ้น ประมาณ 347,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับการระบายน้ำออกนอกพื้นที่นิคมฯบางปูนั้น จะระบายน้ำออกนอกพื้นที่ด้วยเครื่องสูบน้ำกำลังการสูบรวมประมาณ 82,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง แบ่งเป็นสถานีสูบระบายน้ำ จำนวน 11 สถานี กำลังการสูบรวมประมาณ 70,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และ เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ จำนวน 10 ชุด กำลังการสูบรวมประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ขณะเดียวกันยังมีมาตรการการบริหารจัดการด้านอื่นๆ เช่น การปรับปรุงและเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำและระบบควบคุมตามแผนงานการบำรุงรักษา การขุดลอกคูคลอง การพร่องน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน การติดตามและสื่อสารสภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีน้ำท่วม
“ปัจจุบันการรระบายน้ำออกจากพื้นที่นิคมฯบางปู สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้บริเวณทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก โดยทางด้านทิศเหนือระบายน้ำออกสู่คลองหกส่วน และด้านทิศตะวันออกระบายออกสู่คลองลำสลัด และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบายน้ำที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน ได้มอบหมายให้ กนอ.หารือร่วมกับหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาจัดทำแผนปรับปรุงแก้ไขการระบายน้ำออกจากนิคมฯบางปูเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน โดยให้หาวิธีลดการระบายน้ำลงสู่คลองลำสลัดและคลองหกส่วน โดยอาจเป็นการระบายน้ำจากพื้นที่นิคมฯบางปูลงสู่คลองชายทะเลหรือระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่ง กนอ.จะนำไปพิจารณาหาแนวทางเพื่อดำเนินการในระยะยาวต่อไป”นายกอบชัย กล่าว
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมการ กนอ.เป็นห่วงอีกเรื่อง คือการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ที่อยากให้นิคมฯบางปู ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนรอบนิคมฯ อย่างชัดเจนว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดของนิคมฯบางปู เป็นน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพสามารถรองรับน้ำเสียครอบคลุมทุกพื้นที่มีด้วยกัน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เขตอุตสาหกรรมทั่วไป ระบบ Activated Sludge (AS1) ที่สามารถรองรับน้ำเสียได้ 45,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน 2.ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เขตอุตสาหกรรมทั่วไป (ส่วนขยาย) ระบบ Activated Sludge (AS2) สามารถรองรับน้ำเสียได้ 3,600 ลูกบาศก์เมตร/วัน และ3.ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เขตประกอบการเสรี ใช้ระบบ Rotating Biological Contactor (RBC) รองรับน้ำเสียได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทุกโรงงานต้องนำน้ำเสียผ่านระบบบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นของแต่ละโรงงานก่อนแล้วจึงปล่อยน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของ กนอ.
“สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียแบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge Process) เป็นวิธีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีววิทยา ที่ใช้แบคทีเรียพวกที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) เป็นตัวหลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องควบคุมสภาวะแวดล้อมและลักษณะทางกายภาพต่าง ๆ ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ และจะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุด ซึ่งหลักการทำงานประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ถังเติมอากาศ (Aeration Tank) และถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยน้ำเสียจะถูกส่งเข้าถังเติมอากาศ ซึ่งมีสลัดจ์(เชื้อจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับน้ำเสีย) อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในถังเติมอากาศ (Aeration Tank) จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตได้ เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้อยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำในที่สุด ซึ่งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกสลัดจ์ออกจากน้ำใส โดยสลัดจ์ที่แยกตัวอยู่ที่ก้นถังตกตะกอนส่วนหนึ่งจะถูกสูบกลับเข้าไปในถังเติมอากาศใหม่ เพื่อรักษาความเข้มข้นของสลัดจ์ในถังเติมอากาศให้ได้ตามที่กำหนด และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นสลัดจ์ส่วนเกิน (Excess Sludge) ที่ต้องนำไปกำจัดต่อไป สำหรับน้ำใสส่วนบนจะเป็นน้ำทิ้งที่สามารถระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการขยะ โดยมีเตาเผาขยะในพื้นที่ จำนวน 2 เตา สามารถรองรับของเสียได้ทั้งนิคมฯบางปูอีกด้วย” นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว
ทั้งนี้ นิคมฯบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ มีผู้ประกอบการจำนวน 370 โรงงาน เป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 324 โรงงาน เขตประกอบการค้าเสรี 46 โรงงาน มีผู้ใช้แรงงานในพื้นที่นิคมฯ ประมาณ 58,000 คน มูลค่าการลงทุน (ทั้งนิคมฯ) ประมาณ 203,595 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกต่อปีประมาณ 45,833 ล้านบาท โดยนักลงทุนในนิคมฯบางปู ประกอบไปด้วย นักลงทุนญี่ปุ่น 24 % นักลงทุนไต้หวัน 20% นักลงทุนอเมริกา 5 % นักลงทุนสิงคโปร์ มาเลเซีย และยุโรป 12% รวมทั้งนักลงทุนชาวไทยอีก 39% โดยอุตสาหกรรมหลักในนิคมฯ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็ก และเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และการขนส่ง