ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อผู้ต้องขังในเรือนจำโดยทรงเห็นว่า แม้ว่าผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายบ้านเมืองและต้องมารับโทษในเรือนจำ แต่บุคคลเหล่านี้ก็เป็นประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ทั้งสองพระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติที่ใส่พระราชหฤทัย ดูแลทุกข์สุขของประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องการสาธารณสุขและการแพทย์
จึงทรงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโครงการ ”ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขึ้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการ ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อันเป็นปฐมฤกษ์ของการดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 โดยในเป้าหมายโครงการกำหนดไว้ที่จะพระราชทานเครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องในเรือนจำ จำนวน 25 แห่ง และพระราชทานรถเอกซเรย์ให้กับโรงพยาบาลเขต จำนวน 12 แห่ง
วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ ไปพระราชทานเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ ตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุขทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้กับเรือนจำกลางเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ อันเป็นเรือนจำเป้าหมายแห่งที่ 18 ซึ่งยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ โดยได้พระราชทานเครื่องมือแพทย์แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่, ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พระราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ พระราชทานหนังสือเพื่อใส่ในมุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ปันสุข แก่หัวหน้าสถานพยาบาลเรือนจำกลางเชียงใหม่ และหัวหน้าสถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี
สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข” ในสถานพยาบาล และทอดพระเนตรภายใน “มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข” ทอดพระเนตรห้องทันตกรรม ห้องตรวจตา จากนั้น เสด็จไปยังอาคารเรือนนอนผู้ต้องขังชายป่วย พระราชทานถุงพระราชทานให้กับผู้ต้องขังชายป่วย จำนวน 6 ราย ผู้ต้องขังชราและพิการ จำนวน 20 ราย ทอดพระเนตรห้อง Telemedicine ทอดพระเนตรการสาธิตของ อสรจ.ชาย ในการช่วยเหลือผู้ป่วย จากนั้น เสด็จไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ 2 เรือนจำ 2 โรงพยาบาล และเรือนจำในเขต 5 นิทรรศการจิตอาสาเราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังชาย จากนั้นเสด็จไปยังแดน 4 ทอดพระเนตรตัวอย่างการบำบัดน้ำเสียของเรือนจำในแดน 4 จากนั้น เสด็จไปยังพลับพลาพิธี ทอดพระเนตรการแสดงของผู้ต้องขัง ชุด อวยชัย ราชทัณฑ์ปันสุข
สำหรับเรือนจำกลางเชียงใหม่นอกจากได้ปฏิบัติตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุขทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในด้านสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังแล้ว ยังมีการดำเนินงานด้านสภาพแวดล้อม และสุขอนามัยของเรือนจำ ได้แก่การดำเนินงานด้านการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดนวัตกรรมของกรมราชทัณฑ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 การบำบัดน้ำเสียโดยใช้คลองส่งน้ำช่วยบำบัด โดยมีการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคของผู้ต้องขัง(Primary Treatment) และการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่นปัสสาวะ อุจจาระ(Secondary Treatment) โดยได้รับการตรวจคุณภาพน้ำจากส่วนวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลการตรวจผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ มีการนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดนำกลับมาใช้ใหม่ ในการฝึกวิชาชีพภายนอกเรือนจำ และใช้รดน้ำต้นไม้ในเรือนจำ เป็นต้น
การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี
สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชทานคำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ ปันสุขทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในการดำเนินงานต้องการให้ผู้ต้องขังทุกคนได้นำทักษะการฝึกอาชีพด้านศิลปะโดยเน้นศิลปะวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมด้านสมาธิให้แก่ผู้ต้องขัง ได้มีสมาธิและจิตใจอันแจ่มใส อันเป็นสอดรับกับโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ที่เน้นเรื่องการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังพระราชทานคำแนะนำให้แก่เรือนจำทั่วประเทศได้ร่วมกันนำนวัตกรรมต่างๆในการบำบัดน้ำเสียภายในเรือนจำมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศมีระบบการบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีผู้ต้องขัง จำนวน 7,076คน มีผู้ต้องขังเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน 299 คน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น2,303 คน มีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมจำนวน 62 คน
โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ในกิจกรรมต่างๆ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม ที่ทำให้ผู้ต้องขังได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป และไม่ได้ให้ความสำคัญไปกับกลุ่มผู้ต้องขังมากเกินไป แต่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมที่แม้ว่าผู้ต้องขังเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง แต่ในเรื่องความเจ็บป่วยที่ผู้ต้องขังเผชิญอยู่ในระหว่างการคุมขังก็มีความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการเท่ากันกับประชาชนภายนอก
ตั้งแต่เปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุขจนถึงปัจจุบัน พบว่า ประชาชนทั่วไปต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญแก่ประชาชนและผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย และหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ มีความเข้าใจในโครงการมากขึ้นและไม่ได้มองว่า เป็นการให้ความสำคัญกับผู้ต้องขัง แต่ต่างกล่าวเหมือนกันว่า ความเจ็บป่วยไม่มีการแยกเพศ ไม่แยกศาสนาและไม่แยกสถานภาพทางสังคม