กทพ.เตรียมสรุปผลศึกษาต่อขยายทางด่วนสาย “บูรพาวิถี-เลี่ยงเมืองชลบุรี” พ.ย.นี้ คาดลงทุน 5.5 พันล้าน แก้คอขวดหน้า นิคมฯ อมตะนครระบายรถจาก 3 ทิศทางที่มีกว่า 1.3 แสนคัน/วัน ขณะที่ระยะทางค่อนข้างสั้น ผลตอบแทนต่ำ ดึงลงทุนเอง
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ( 27 ต.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยมีนายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) กทพ. เป็นประธาน ณ จังหวัดชลบุรี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม150 คน โดยที่ปรึกษาจัดการสัมมนาครั้งสุดท้าย เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจัดทำรายงานสรุปผลฉบับสมบูรณ์ และเสนอ กทพ. ภายในเดือน พ.ย. 2563 จากนั้นรายงานการศึกษาวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในเดือน ธ.ค. 2563 คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 1-2 ปี
โดย กทพ.จะเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติควบคู่ไป ซึ่งการดำเนินงานตามขั้นตอน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2566 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ประมาณการณ์งบลงทุน 5,500 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างเฉลี่ย กม.ละ 1,000 ล้านบาท/กม.) มีค่าเวนคืนประมาณ 300 ล้านบาท มีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ที่20% สูงกว่ามาตรฐานกำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 12% ส่วนผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 1% เนื่องจากมีระยะทางค่อนข้างสั้น ซึ่งก ทพ.จะลงทุนเอง
ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการจะเริ่มจากจุดเชื่อมต่อจากปลายทางพิเศษบูรพาวิถี หรือทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี บนเกาะกลางของถนนสุขุมวิท (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3) ผ่านด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่แนวเกาะกลางของถนนเลี่ยงมืองชลบุรี (ทางหลวงแผ่นตินหมายลข 361) มีจุดสิ้นสุดแนวสายทางโครงการบริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี รวมระยะทางประมาณ 4.4 กม. ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ มีทางขึ้น-ลง 2 จุด จุดแรก บริเวณหน้านิคมอุสาหกรรมอมตะนคร และบริเวณปลายทางบนถนนเลี่ยงเมือง
ปัจจุบัน ปริมาณจราจรบนถนนสุขุมวิทมีเฉลี่ย 40,000 คัน/วัน (โดยมีสัดส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ 57.41%) ปริมาณจราจรบนทางด่วนบางนา-ชลบุรี มีเฉลี่ย 48,000 คัน/วัน และรถที่ออกจากนิคมฯอมตะนคร เฉลี่ย 44,000 คัน/วัน ทำให้ บริเวณดังกล่าวมีปริมาณจราจรมาจาก 3 ทิศทางถึง 132,000 คัน/วัน และเกิดการตัดกระแสจราจรกันไปมา เนื่องจากจะมีรถประมาณ 81,000 คันที่ต้องการเข้าถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี อีกประมาณ 32,000 คัน ต้องการเข้าตัวเมืองชลบุรี และที่เหลือจะกลับรถเพื่อเข้ากรุงเทพฯ โครงการนี้จะแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนถนนสุขุมวิทบริเวณหน้านิคมฯ อมตะนคร