กกพ.เตรียมศึกษาออกระบบหลักเกณฑ์ควบคุมระบบท่อก๊าซฯ เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นหลังชุมชนรุกคืบใกล้แนวท่อมากขึ้น แม้ระบบท่อฯ ปตท.จะมีมาตรฐานระดับสากล แต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ทั้งชุมชน และถนน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.ได้ติดตามเหตุท่อก๊าซธรรมชาติรั่ว และเกิดระเบิด ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ อย่างใกล้ชิด ซึ่งในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงานกำลังพิจรณาว่าจะออกระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มเติมอย่างไรในการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวอีก ซึ่งยอมรับว่าท่อก๊าซฯ ดังกล่าวเป็นท่อเส้นที่ 2 ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539 และพบว่าสภาพแวดล้อมใกล้ท่อก๊าซฯ แต่ละเส้นเปลี่ยนไปมากจากอดีตมีชุมชน ถนน เกิดใกล้แนวท่อฯ มากขึ้น จึงต้องวางเกณฑ์ในการกำหนดความปลอดภัยเพิ่มเติม
สำหรับท่อก๊าซฯ ปตท.นั้นมีมาตรฐานสูงเป็นมาตรฐานระดับโลก มีการเตือนเรื่องบุคคลภายนอกเข้าไปใช้พื้นที่ใกล้เคียงต้องแจ้งขออนุญาต แต่ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุจากการไม่ระมัดระวังของบุคคลภายนอก แต่ทั้งนี้ สาเหตุของการรั่วนั้นต้องรอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ซึ่ง บมจ.ปตท.ได้ส่งชิ้นส่วนท่อก๊าซที่ฉีกขาดไปตรวจสอบ โดยระบบก๊าซของไทยใช้ยาวนานมาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ประเทศไทยพบก๊าซธรรมชาติเริ่มใช้ปี 2524 ท่อก๊าซหลักบนบกความยาวประมาณ 2,641 กิโลเมตร เส้นที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเส้นที่ 2 ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539
"สภาพแวดล้อมในพื้นที่ท่อก๊าซพาดผ่านเปลี่ยนไปจากอดีตมากในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแม้ท่อก๊าซ ปตท.มีมาตรฐานดูแลที่สูง แต่ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุจากการไม่ระมัดระวังของบุคคลภายนอก ประกอบกับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปแยอะมาก ดังนั้น สำนักงาน กกพ.ก็ต้องมาดูว่าจะออกระเบียบอะไรเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ส่วนสาหตุอุบัติภัยที่ อ.บางบ่อครั้งนี้ก็ต้องรอผู้เชี่ยวชาญสรุปสาเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการพลังงานของไทยนั้นมีการวางแผนที่พร้อม มีท่อก๊าซฯ หลายเส้นเป็น LOOP ต่อเชื่อมกันเช่นเดียวกับสายไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติภัยก็กระทบผู้ใช้ก๊าซฯ เพียงช่วงแรกเล็กน้อยเท่านั้น และสามารถบริหารจัดการส่งก๊าซฯ สับสายส่งไฟฟ้าทดแทนรวดเร็ว ไม่กระทบผู้บริโภค" นายคมกฤชกล่าว