“สุพัฒนพงษ์” เผยโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์เป็นไปตามกรอบข้อเสนอของ สศช.เพื่อประเมินผลก่อน เบื้องต้นยอมรับยังไม่ได้สรุปถึงการคัดเลือกโครงการว่าจะเป็นเปิดประมูลแข่งขัน (บิดดิ้ง) หรือไม่ ขณะที่ พพ.รับแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจะขยับไปเป็น ม.ค. 64
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เบื้องต้นจะเปิดรับซื้อไฟฟ้านำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อประเมินผลโครงการ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขั้นตอนการคัดเลือกโครงการยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นมี 2 แนวทาง โดยอาจใช้แนวทางประมูลแข่งขัน หรืออาจกำหนดราคารับซื้อ เมื่อได้ข้อสรุปจะต้องนำเสนอคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
“เป้าหมายโครงการดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ที่ต้องตกแก่เกษตรกรและไม่กระทบค่าไฟฟ้าภาพรวมของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น การจัดหาเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและจากก๊าซชีวภาพจึงต้องทำเกษตรพันธะสัญญา หรือ Contract Farming” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 4 แผนพลังงาน ล่าสุดได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบูรณาการ 5 แผนพลังงาน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้เป็นแผนเดียวกัน ภายใน 6-8 เดือน โดยให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-80) ตามข้อเสนอ สศช.
“ยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนทุกๆ 5 ปี ซึ่งแผนปี 61-65 นั้น แต่ขณะนี้เหลือเวลาแค่ปี 63-65 ก็ให้ปรับแผนพลังงานระยะสั้นนี้ไปก่อนให้ชัดเจน โดยเป้าหมายดำเนินงานหลักๆ ในทุก 5 แผนยังอยู่เหมือนเดิม” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความเห็นไปแล้วก็กำลังเร่งสรุปหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเสนอเข้า กพช.ภายใน พ.ย.นี้ จากนั้นจะต้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขเพื่อรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องเปิดรับฟังความเห็นที่ต้องใช้เวลา 15 วัน ดังนั้นคาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นเสนอรับซื้อไฟฟ้าได้จะเป็นเดือนมกราคม 2564
สำหรับเบื้องต้นจากการหารือทุกฝ่ายยอมรับว่ายังมีความเห็นต่างหลายประเด็น และยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งแนวทางคัดเลือกโครงการว่าจะเป็นการประมูลแข่งขัน (Bidding) หรือไม่ โดยบางฝ่ายเห็นว่าหากประมูลอาจมีปัญหาเรื่องการกดราคาหรือดัมป์ราคากันแล้วนำไปสู่การทิ้งโครงการในอนาคต ดังนั้น เรื่องดังกล่าวได้เตรียมแนวคิดที่จะป้องกันการทิ้งโครงการไว้เบื้องต้นแล้ว เช่น การกำหนดการวางเงินค้ำประกันโครงการหรือแบงก์การันตีกับวิสาหกิจชุมชน และกับรัฐ มีบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้น เป็นต้น