ส.อ.ท.เผยยอดใช้เหล็กของไทย 8 เดือนแรกลดลง 14% แต่จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น คาดทั้งปีลดลง 10% หวังนโยบาย Made in Thailand ดันยอดใช้เหล็กปี 2564 กลับมาโตได้ 4-5% แนะรัฐหนุนให้โครงการ PPP ส่งเสริมใช้เหล็กในประเทศด้วยเช่นกัน
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า 8 เดือนแรกปี 2563 ไทยมีความต้องการใช้เหล็กรวม 11 ล้านตัน ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยคาดว่าระยะเวลาที่เหลือของปีนี้จะทยอยฟื้นตัวและทำให้การใช้เหล็กตลอดปี 2563 จะอยู่ที่ 16.7 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็น 10% โดยผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนลดลง 11% และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวลดลง 9% อย่างไรก็ตาม จากนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าภายในประเทศ หรือ Made in Thailand คาดว่าความต้องการใช้เหล็กปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 4-5% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 17.5 ล้านตัน
"หากเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินโลก พ.ศ. 2552 หรือแฮมเบอร์เกอร์ดีซีส เมื่อ 11 ปีก่อนการใช้เหล็กของไทยปี 2552 ลดลงถึง 21% แต่ในปีถัดไป คือปี 2553 ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 31% แต่โควิด-19 ครั้งนี้การฟื้นตัวจะช้าและต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นมาตรการสนับสนุนจากรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ" นายนาวากล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” และรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง “กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ตามบัญชีรายชื่อที่ขึ้นไว้กับ ส.อ.ท. สำหรับงานก่อสร้าง ได้กำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น และหากในกรณีที่พบว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ขณะที่ผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเสนอราคาสูงกว่ารายของต่างชาติไม่เกิน 3% ให้พิจารณาเลือกการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการของไทย
"นโยบาย Made in Thailand จะช่วยให้การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กเฉลี่ยของโลกปี 2562 ที่ 78% นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐพิจารณาให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ต่างๆ ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ" นายนาวากล่าว