xs
xsm
sm
md
lg

ตายหมู่ไปกับหุ้น SSI / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชะตากรรมของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ถูกตัดสินแล้ว เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ โดยผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 1.7 หมื่นราย กลายเป็นเหยื่อความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ถือหุ้น โดยเปิดให้ซื้อขายหุ้น SSI เป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคมนี้ แต่คงไม่ช่วยบรรเทาความเสียหายผู้ถือหุ้นได้มากนัก

เพราะเมื่อหุ้นถูกเพิกถอน คงไม่มีนักลงทุนรายใดต้องการช้อนซื้อ


SSI ถูกขึ้นเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขายหุ้น ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559 เนื่องจาก บริษัทประสบปัญหาฐานะทางการเงิน หลังจากเกิดความเสียหายการลงทุนโรงเหล็กที่ประเทศอังกฤษ และไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ธนาคารกรุงไทย และธนาคารพาณิชย์จำนวนหลายหมื่นล้านบาทได้

ตลาดหลักทรัพย์ให้เวลา SSI ฟื้นฟูกิจการอยู่หลายปี แต่ไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอน จนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครบเงื่อนเวลาการแก้ไข จึง ถูกเพิกถอน เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์

โครงสร้างผู้ถือหุ้น SSI ประกอบด้วย บริษัท เครือสหวิริยา จำกัด ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 18.62% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 17,203 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 50.38% ของทุนจดทะเบียน

ราคาหุ้น SSI เคยเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 2-3 บาทอยู่ยาวนาน ก่อนจะทรุดตัวลงตามอุตสาหกรรมเหล็กที่ตกต่ำ จนเหลือเพียงไม่กี่สิบสตางค์ และปิดการซื้อขายครั้งสุดท้ายที่ 5 สตางค์ โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบทั้งหมดต้องติดหุ้นต้นทุนสูง และทำใจตัดขายขาดทุนไม่ได้ จึงทนถือหุ้นไว้ โดยหวังว่า บริษัทจะฟื้นฟูกิจการได้

แต่ 5 ปีที่ผ่านมา นับจากถูกแขวนป้าย “SP” SSI ไม่สามารถแก้ปัญหาการดำเนินงานได้ และเมื่อถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นคงไม่เหลือความคาดหวังใดๆ ในการฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น ช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ซื้อขายครั้งสุดท้าย 7 วันทำการ ระหว่าง 1-10 กรกฎาคมนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงถอดใจ และหาจังหวะขายหุ้นทิ้งมากกว่า

ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่รอคิวเตรียมถูกตะเพิดออกจากตลาดหลักทรัพย์ และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกนับพันนับหมื่นรายต้องรับเคราะห์ตามไปด้วย

ใครเผลอลงทุนบริษัทจดทะเบียนที่ถูกตะเพิดออกจากตลาดหุ้น อาจเสียหายถึงขั้นหมดตัว
เพราะในที่สุดราคาหุ้นจะเป็นศูนย์ นักลงทุนจึงต้องเลือกเฟ้นหุ้นที่จะเข้าลงทุน และหลีกเลี่ยงหุ้นเน่าๆ เพื่อป้องกันตัวเงินตั้งแต่แรก

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ต้องพิถีพิถันในการพิจารณารับหุ้นใหม่ โดยทำหน้าที่กลั่นกรองบริษัทจดทะเบียนใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุน โดยไม่เน้นนโยบายการรับหุ้นใหม่ในเชิงปริมาณ แต่เน้นในเชิงคุณภาพ และไม่ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดเข้ามา จนสุดท้ายต้องตะเพิดออก ทั้งที่ไม่ควรผ่านการพิจารณารับเข้าจดทะเบียนตั้งแต่แรก

นักลงทุนรายย่อยเกือบ 2 หมื่นคน ต้องตกเป็นเหยื่อ สังเวยความล่มสลายของหุ้น SSI แต่ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่อยู่ในข่ายถูกตลาดหลักทรัพย์ตะเพิดออก และหุ้นบางตัว ไม่ควรได้รับอนุมัติให้เข้ามาซื้อขายด้วยซ้ำ ถ้าตลาดหลักทรัพย์ตระหนักถึงคุณภาพและบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง

นโยบายการรับหุ้นใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึงนักลงทุนที่อาจต้องรับเคราะห์จากหุ้นเน่า อย่าคิดแต่เห็นอกเห็นอกเห็นใจผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเยียนใหม่ อย่ามัวแต่เกรงอกเกรงใจบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

เพราะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางแห่ง จับบริษัทเน่าๆ แต่งตัว และสามารถตบตาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ
นำหุ้นเข้ามาซื้อขาย สร้างความเสียให้นักลงทุนหลายบริษัทแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น