“จุรินทร์” ถก นบมส.เคาะงบ 1,400 ล้านบาทสกัดโรคใบด่าง จ่ายชดเชยทำลายมันสำปะหลังให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรทุกราย พร้อมสนับสนุนท่อนพันธุ์คุณภาพ ทนทานและปลอดโรค พร้อมสั่งเข้มคุมลักลอบนำเข้า เผยล่าสุดติดโรคแล้ว 26 จังหวัด เสียหาย 3.2 แสนไร่ โคราชนำโด่ง ตามด้วยสระแก้ว บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ว่า ได้หารือถึงมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างที่กำลังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีการระบาดเพิ่มจาก 22 จังหวัด เป็น 26 จังหวัดทั่วประเทศ มีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 3.2 แสนไร่ จึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่ทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรค ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรทุกราย และยังจะแจกท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ ที่ทนทานและปลอดโรคให้แก่เกษตรกร ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ย. 2563 ถึง 30 ก.ย. 2564
“ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ได้ทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรคใบด่างแล้ว ให้ใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่มีคุณภาพ และซื้อท่อนพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง อย่าหลงเชื่อผู้ขายบางรายที่ขายท่อนพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เพราะจากการตรวจสอบพบว่าในบางพื้นที่มีการหลอกขายท่อนพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ปลูกแล้วได้ผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน” นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศเข้มงวดในการดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า โดยให้มีการตรวจสอบทั้งการนำเข้ามันเส้น ณ จุดผ่านแดนต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคามันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร
ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการมันสำปะหลังระดับจังหวัด สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตลอดอายุของคณะกรรมการ นบมส. ไม่จำกัดเฉพาะปีการผลิต 2562/63 เพื่อให้การดูแลมันสำปะหลังมีความต่อเนื่อง ทั้งการดูแลราคา การปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทุกปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังล่าสุด มีพื้นที่เสียหายรวม 326,274.25 ไร่ กินพื้นที่ทั้งสิ้น 26 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม ยโสธร ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุทัยธานี และอุบลราชธานี โดย จ.นครราชสีมาเป็นพื้นที่ที่เสียหายมากที่สุด โดยเสียหายถึง 242,254.25 ไร่ รองลงมาคือ สระแก้ว 29,174.50 ไร่ บุรีรัมย์ 26,297 ไร่ และปราจีนบุรี 9,890.50 ไร่