xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็ม บี เค” ปรับครั้งใหญ่รอบ 36 ปี ดึงฟูดจ่อเปิดข้ามคืน-เจาะวัยรุ่นเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “เอ็ม บี เค” ปรับครั้งใหญ่รอบ 36 ปี ทั้งโซนร้านค้า พื้นที่ การตกแต่ง ดึงร้านอาหารเครื่องดื่มเข้ามาเพียบ รับเทรนด์จ่อเปิดข้ามเที่ยงคืนบางร้าน ลดกลุ่มร้านแฟชั่น หวังเจาะคนไทยมากขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวหาย คาดต้นปีหน้าเห็นความชัดเจน

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์การค้าเอ็มบีเคได้ทำการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบกว่า 36 ปีตั้งแต่เปิดบริการศูนย์การค้ามาก็ว่าได้ ทั้งในแง่ของการปรับโซนร้านค้า การปรับเปลี่ยนร้านค้า การปรับปรุงพื้นที่และการตกแต่งอาคารต่างๆ โดยคาดว่าต้องใช้งบประมาณหลักพันล้านบาทเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมทั้งเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หลังจากที่เกิดโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งในไทยด้วย แม้ว่าขณะนี้ในไทยสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายบ้างก็ตาม 

“ต้องยอมรับว่าหลังจากเกิดโควิดและมีการปิดน่านฟ้าทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเพราะเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้ รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งเอ็มบีเคเราจับลูกค้าต่างชาติเป็นหลักมากกว่า 70% ใช้จ่าย 4,000 บาทต่อคนทำให้ได้รับผลกระทบด้วย ที่เหลือเป็นคนไทย 30-40% จากจำนวนลูกค้าที่เข้าศูนย์ฯ เฉลี่ยช่วงปกติ 100,000-120,000 คนต่อวัน ตอนนี้เหลือแค่ 30,000-40,000 คนต่อวันเท่านั้น เราจึงต้องปรับตัว รวมทั้งร้านค้าที่อยู่ในศูนย์ฯ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่งสินค้าพวกแฟชั่น เสื้อผ้า ก็ทรงตัว ส่วนพวกอาหารนั้นเติบโตดีเราจึงเน้นตรงนี้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ จากพื้นที่การขายทั้งหมดกว่า 80,000 ตารางเมตร จากพื้นที่โครงการกว่า 140,000 ตารางเมตร และหลังจากปรับใหม่จะเน้นคนไทยเป็นหลัก แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นเปิดน่านฟ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาตามปกติได้ สัดส่วนจะเท่ากันระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ และเป็นการขยายกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นจากการเปิดพวกร้านอาหารใหม่ๆ และโคเวิร์กกิ้งสเปซ”


ทั้งนี้ พื้นที่ชั้นจี หรือชั้นที่ 1 โซนที่ด้านหน้าติดถนนซึ่งเดิมเป็นร้านค้าแฟชั่นเสื้อผ้า จะปรับเป็นโซนร้านอาหารมีพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร เริ่มทยอยปรับแล้ว มีทั้งร้านมาเปิดใหม่กับร้านเดิมที่ขยายพื้นที่เพิ่ม, ชั้นที่ 2 เชื่อมกับสกายวอล์ก จะมีร้านใหม่ๆ มาเปิด เช่น ทิมฮอร์ตัน ก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร วราภรณ์ซาลาเปา สุกี้ตี๋น้อย เป็นต้น ซึ่งมีแนวคิดว่าบางร้านมีการเจรจาที่จะเปิดบริการเลยเที่ยงคืนด้วยแต่ยังไม่สรุป, ชั้นที่ 3 ส่วนใหญ่เดิมจะเป็นร้านแฟชั่น เสื้อผ้า และร้านทอง ไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนมาก แต่จะมีการเพิ่มร้านค้าต่างชาติมากขึ้น และมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตรทำโซนสินค้าจีไอที่ร่วมกับหน่วยงานราชการ เปิดให้เกษตรกรนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย

ชั้นที่ 4 ยังคงเป็นโซนมือถือ ธนาคาร ยังไม่มีการปรับร้านค้า ปรับแต่การตกแต่ง, ชั้นที่ 5 จะปรับใหม่หมดเป็นโซนการศึกษา และเสริมด้วยร้านค้าบริการต่างๆ และศูนย์การทำพาสปอร์ต และชั้น 6 ที่ได้มีการปรับไปแล้ว ปล่อยพื้นที่ให้เช่าทำเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเปิดบริการแล้ว 


“ช่วงปีหน้า (2564) จะเห็นความชัดเจนในการปรับใหม่มากขึ้น เช่น โซนการศึกษา ชั้น 4, 5, 6 ตั้งเป้าเป็นเลิร์นนิ่งฮับ เปิดบริการบ้างแล้ว เช่น สถาบัน KPH และจะเปิดครบ 19 สถาบันต้นปี 2564 เช่น ออนดีมานด์, ซุปเค, ดาวองซ์, เอ็กเซเล้นท์, ภาษาไทย อ.กอล์ฟ, บ้านวิชาการ, วีบายเบรน, นิสิตติวเตอร์, ยูเรก้า เป็นต้น” นายสมพลกล่าว

ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้าศูนย์ฯ ส่วนใหญ่มาใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสัดส่วน 89% ใช้บริการสินค้าเสื้อผ้า แฟชั่น รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ สัดส่วน 38% สินค้าอุปโภคในท็อปส์ 23% บันเทิง 21% โทรศัพท์มือถือ 19%

ทั้งนี้ จากเดิมสัดส่วนพื้นที่ของเอ็มบีเคและสัดส่วนใหม่เป็นดังนี้ อาหารและเครื่องดื่ม จาก 20% เพิ่มเป็น 22%, ธนาคารและบริการต่างๆ จาก 9% เพิ่มเป็น 19%, บันเทิง จาก 16% เป็น 17%, แฟชั่น จากเดิม 21% เหลือ 15%, มือถือและอุปกรณ์ คงเดิม 10%, ความงามหรือบิวตี้ จาก 9% เหลือ 7%, ทอง คงเดิม 3%, ทั่วไป คงเดิม 3%, เฟอร์นิเจอร์ คงเดิม 2% และร้านขายของที่ระลึก คงเดิม 2%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกิดโควิดส่งผลกระทบร้านค้าปิดตัวเลิกไปประมาณ 10% จากทั้งหมดที่มีกว่า 1,700 รายทั้งใหญ่และเล็กรวมกัน โดยสัญญาที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นแบบค่าเช่า ซึ่งบริษัทฯ ช่วยเหลือผู้ค้าตามกำลัง เช่น ลดค่าเช่า 70% ส่วนร้านค้าเซ้งมีประมาณ 10% ไม่เก็บค่าส่วนกลาง ค่าอะไรต่างๆ เป็นต้น
















กำลังโหลดความคิดเห็น