xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.ลงใต้ตรวจก3โปรเจคยักษ์ แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง ทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อติดตามการดำเนินการโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยทะเลสาบสงขลา ที่ สทนช. ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จและจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก  ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา (อำเภอเมือง หาดใหญ่ สะเดา รัตภูมิ ระโนด สทิงพระ ควนเนียง กระแสสินธุ์ นาหม่อม บางกล่ำ คลองหอยโข่ง จังหวัดพัทลุงทั้งหมด และจังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอชะอวด และหัวไทร) ที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณนี้ มีปัญหาน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำ การรุกตัวของน้ำเค็ม ตะกอนในทะเลสาบ เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจและเริ่มมีการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2514 แต่ด้วยสภาพพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่และการใช้ประโยชน์ที่แตกต่าง ทำให้การศึกษาและการดำเนินการโครงการยังไม่ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้มีบางโครงการต้องถูกระงับไป ภายหลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้ง สทนช. เมื่อปี 2560 และหลังจากที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้ประกาศใช้เมื่อต้นปี 2562 ได้กำหนดให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์และบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจน ศึกษาแผนหลักและแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการบรรเทาอุทกภัยภัยแล้ง และพื้นที่ Area Based ที่เกี่ยวข้องในทุกลุ่มน้ำ สทนช. จึงได้คัดเลือกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นมาดำเนินการเพื่อหวังผลในการหาทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลจากรอบด้านทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจากการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ปัญหาอุทกภัย 2. ปัญหาการขาดแคลนน้ำ/การรุกตัวของน้ำเค็ม 3. ปัญหาคุณภาพน้ำ 4. ปัญหาตะกอนในทะเลสาบ/สิ่งแวดล้อม และ 5.ปัญหาการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยในการศึกษาได้กำหนดแนวทางพัฒนาทรัพยากรน้ำ
สำหรับจัดทำแผนหลัก 20 ปี รวมงบประมาณกว่า 69,395 ล้านบาท ได้แก่ ด้านน้ำท่วม 14 กลุ่มโครงการ ด้านขาดแคลนน้ำ/รุกตัวของน้ำเค็ม 28 กลุ่มโครงการ ด้านคุณภาพน้ำ 9 กลุ่มโครงการด้านตะกอนในทะเลสาบ/สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ 20 กลุ่มโครงการ ด้านองค์กร/ การบริหารจัดการ จัดทำในลักษณะของข้อเสนอแนะการปรับองค์กร การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แก้ไขปัญหาด้านพื้นที่ทับซ้อนในการลงพื้นที่ในวันนี้ คณะเลขาธิการ สทนช. ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการที่สอดคล้องกับการศึกษาที่เกี่ยวกับตะกอนในทะเลสาบสงขลา ได้แก่  การดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา (ร่องใน) ของกรมเจ้าท่า บริเวณ แหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นจุดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก เนื่องจากเป็นร่องน้ำทางเดินเรือของเรือสินค้าขนาดกลางที่มาขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงบริเวณท่าเรือเอกชน รวมถึงเรือประมงที่มาขนถ่ายสัตว์น้ำบริเวณท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา อีกทั้งยังเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาตอนล่างสู่อ่าวไทย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อนำตะกอนสะสมในร่องน้ำออกไม่ให้เกิดความตื้นเขิน ป้องกันการเกิดเนินทรายหรือสันดอนทราย โดยการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าวต้องทำควบคู่ไปกับการขุดลอกร่องกลางทะเลสาบตอนล่างและร่องน้ำร่องนอก เพื่อให้เรือสามารถสัญจรเข้า-ออกได้ตามปกติ และช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดที่สอง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้แก่ การดำเนินการของกรมชลประทาน บริเวณแก้มลิงบ้านชะแล้ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรสทิงพระซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบชายทะเล ในอดีตไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงคลองและระบบลำเลียงน้ำในพื้นที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูง จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งจากการศึกษาของกรมชลประทานพบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด คือ การสร้างแก้มลิง 3 จุด โดยแก้มลิงบ้านชะแล้เป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว โดยลักษณะโครงการเป็นการขุดแก้มลิงเนื้อที่ประมาณ 275 ไร่ ลึก 4 เมตร ความจุประมาณ 1.76 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบ เช่น อาคารระบายน้ำ อาคารรับน้ำ อาคารอัดน้ำ รางระบายน้ำ ทำนบดิน และถนนลาดยาง ซึ่งหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับทำการเกษตรของประชาชนใน ต.ชะแล้ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 816 ครัวเรือน ประชากร 2,908 คน พื้นที่การเกษตร 1,418 ไร่

สำหรับจุดสุดท้าย คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี ต.บางกล่ำ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ระยะที่ 2) เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากเดิมได้เพียง 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.34 กิโลเมตร 2.งานก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 เป็นประตูระบายน้ำชนิดบานโค้ง ขนาด 12.50 x 7.50 เมตร จำนวน 3 ช่อง 3.งานก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี 2 เป็นประตูระบายน้ำชนิดบานระบายตรง ขนาด 6 x 6 เมตร จำนวน 8 ช่อง และ 4.งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบางหยี อัตราการสูบรวม 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที“ทั้ง 3 จุด แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ถือเป็นตัวอย่างการดำเนินงานภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความเหมาะสมทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และการบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการดำเนินการไม่ได้คำนึงเพียงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างให้เกิดผลประโยชน์ในเรื่องน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาภายใต้การศึกษาที่คำนึงถึงความสมดุลของน้ำ ชลศาสตร์ รวมถึงประเด็นในเรื่องคุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน และอาชีพของคนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความยั่งยืนที่แท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่เพียงแต่การวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบข้างต้นแล้ว การติดตามประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบไว้ล่วงหน้า ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีการติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงเดือนตุลาคมร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านทางตอนล่างของประเทศ ส่งผลให้ภาคใต้เริ่มมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วง 7 วันข้างหน้า พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 5 จังหวัด บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล ทั้งนี้ กอนช. จะมีการประชุมติดตามแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง รวมถึงประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำต่าง ๆ แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 51 แห่ง ยังคงเหลือ 12 แห่ง จากแผนทั้งหมด 115 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น