xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเดินหน้าลดโลกร้อน เปิดตัวตลาดกลางซื้อขายเครดิตผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุพัฒนพงษ์" หนุน กฟผ.ผนึกเอกชนร่วมลดโลกร้อน เปิดตลาดธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่ กฟผ.ได้รับสิทธิ์จากเป็นผู้รับรองเพียงรายเดียวในไทย โดยมีโตโยต้าประเดิมนำร่องเป็นผู้ซื้อรายแรก คาดส่งผลให้ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโตขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "Thailand Clean Energy Network 2020" ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายท้าทายที่จะต้องเร่งดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) กระทรวงพลังงานจึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พัฒนากลไกในการกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปิดตัวธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ.ได้รับสิทธิ์จาก The Internation REC Standard (I-REC) จากเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในไทย ซึ่งล่าสุดโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้ามาเป็นผู้ซื้อ REC เป็นรายแรก

"ใบรับรองนี้สามารถนำไปซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียนกันได้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเห็นว่าหากเป็นไปได้การซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียนทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะเข้ามาร่วมมือเพื่อเปิดการซื้อขายให้กว้างขึ้น แต่ยอมรับว่าขณะนี้ตลาดยังเล็กอยู่แต่มองว่าระยะยาวน่าจะเป็นไปได้" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่จะนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อน ตนจึงได้มุ่งเน้นให้เป็นโครงการที่จะส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกหรือการซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเมื่อมองอนาคตก็ยอมรับว่าอาจจะเกิดขึ้นยาก แต่การทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ใหม่จำเป็นต้องมองหลายมิติโดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต้องตอบโจทย์ว่านักลงทุนและประชาชนจะรับได้มากน้อยเพียงใด


นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา กฟผ.และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการที่ กฟผ.ร่วมกับเอกชนต่างๆ เช่น ไอพีพี, เอสพีพี ผนึกกำลังเป็นเครือข่าย Thailand Clean Energy Network จะส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศจะนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

"การที่ กฟผ.ได้รับสิทธิ์จาก (I-REC) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น โดยหน่วยการซื้อขายคือ REC คำนวณจากหน่วยไฟฟ้า 1 พันหน่วยเท่ากับ 1 REC โดยเบื้องต้นราคา 50 บาทต่อ 1 REC" นายวิบูลย์กล่าว

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทตกลงซื้อไฟฟ้า Grid ระบบส่งไฟฟ้า กฟผ.เป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำ ซื้อทั้งหมด 10,000 REC มูลค่าราว 5 แสนบาท/ปี คิดเป็น 3.8% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของบริษัทในไทยที่มีราว ประมาณ 187,000 หน่วย/ปี ซึ่ง Toyota Motor Thailand ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ CO2 (สัดส่วน 80% ของก๊าซเรือนกระจก) ให้เป็น 0 ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
กำลังโหลดความคิดเห็น