xs
xsm
sm
md
lg

แห่งแรกในเมืองไทย! “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” นวัตกรรมล้ำ ๆ สร้างพลังงานทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พร้อมรองรับพลังงานทางเลือกที่กำลังเติบโต กลุ่ม ปตท. เปิดตัว “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของไทย ชูนวัตกรรม “ทุ่นลอยน้ำ” สุดสร้างสรรค์ ผลิตจากเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ ลดการสะสมของเพรียงทะเล ใช้งานได้นาน แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล พร้อมเดินหน้าทำเชิงพาณิชย์ จำหน่าย-ติดตั้ง แก่ผู้สนใจ


เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม จึงได้ริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ เป็นการประสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล

“โครงการนี้ ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้”


แน่นอนว่า หัวใจสำคัญประการหนึ่งของ Floating Solar อยู่ที่ “ทุ่นลอยน้ำ” ซึ่งมักจะประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และเมื่อใช้งานกลางแดดจัด ทุ่นลอยน้ำมักเกิดความเสียหายและมีอายุการใช้งานที่สั้น ด้วยเหตุนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จึงได้ทำการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ แข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนา เมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ

และที่สำคัญ นี่เป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านการยึดเกาะและลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเลเป็นครั้งแรก ได้การรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี


ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เปิดเผยว่า จากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่าทุ่นลอยน้ำของโครงการนี้ มีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล

“GC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ผลลัพธ์ดี ๆ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะจากการให้ข้อมูลของ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ระบุว่า การติดตั้งระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์นี้ สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ได้สูงถึงปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท

“และที่สำคัญ ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการ จะลดได้มากกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน เยาวชนในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป”


และเพราะการติดตั้ง Floating Solar ในน้ำทะเล มีความแตกต่างจากการติดตั้งในบ่อน้ำทั่วไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงระดับน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณคมสัน ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ให้ข้อมูลว่า เมื่อคำนึงถึงปัญหาดังกล่าว CHPP จึงได้ออกแบบการคำนวณระบบยึดโยงตามหลักวิศวกรรม และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลนี้ เช่น ระดับความสูงของคลื่น ความเร็วลม เพื่อให้การยึดโยงแผงและทุ่นลอยน้ำมีความแข็งแรง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

“ทั้งนี้ CHPP ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับทุ่นลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ให้ CHPP ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายทุ่นลอยน้ำชั้นนำของประเทศไทย”

สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่า นี่คืออีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของแวดวงพลังงาน ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมของคนไทย แต่ยังนำความเชี่ยวชาญนั้นมาสร้างสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล




กำลังโหลดความคิดเห็น