กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน หวังผลักดันให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รองรับการเติบโตของสังคมสูงวัย พร้อมดึงสถาบันการเงินมาช่วยสนับสนุน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “อนาคตธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ระหว่างวันที่ 7-8 ต.ค. 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้สามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ช่วยสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่สนใจหันมาประกอบธุรกิจด้วยความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการธุรกิจ อันนำไปสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 150 คน มาจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจสินค้า อาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ กายภาพบำบัด นำเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมาให้ความรู้ ประสบการณ์การทำธุรกิจ การพัฒนาธุรกิจ การสนับสนุนจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการจับคู่เจรจาธุรกิจและพบกับธนาคารต่างๆ ที่มีเงื่อนไขพิเศษให้เฉพาะผู้เข้าร่วมอบรม เช่น ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) และธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
“ธุรกิจบริการสุขภาพถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตและขยายตัวค่อนข้างสูง เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ไม่เพียงแต่ให้บริการผู้สูงอายุที่เป็นคนไทย แต่ยังดึงดูดผู้ใช้บริการจากต่างประเทศได้ด้วย จึงเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะสร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตควบคู่พร้อมไปกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง” นายพูนพงษ์กล่าว
ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11,136,059 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73 จากประชากรทั้งประเทศที่มีจำนวน 66,558,935 คน (ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ) ในขณะที่มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 376 ราย ซึ่งยังมีจำนวนธุรกิจไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้น กรมฯ จึงเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) สร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และยังสามารถใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม