“พาณิชย์” เผยกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแก้ไขผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ปรับปรุง 3 ประเด็น เปิดโอกาสให้เจ้าของสิทธิ์แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) นำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที ไม่ต้องรอคำสั่งศาล เพิ่มความเข้มเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮกงานลิขสิทธิ์ และยืดอายุการคุ้มครองภาพถ่ายอีก 50 ปี หลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดูแลและแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่ออินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และยกระดับความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการค้า การลงทุน และหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป
สำหรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ปรับปรุง 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. กำหนดข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยนำวิธีแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) มาใช้ ซึ่งหากเจ้าของสิทธิพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP ให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล
2. ปรับปรุงมาตรการการละเมิดทางเทคโนโลยี โดยเพิ่มการเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮกงานลิขสิทธิ์
3. ขยายระยะเวลาการคุ้มครองภาพถ่าย ซึ่งเดิมให้ความคุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ผลงาน โดยปรับเป็นการให้ความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์เสียชีวิต
“การปรับปรุงร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างกลไกการคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับความคุ้มครองผลงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ ตลอดจนสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ด้วย” นายวีรศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติภายใต้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าวต่อไป