รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เปิดมาถึง 10 ปีแล้วนับจากวันแรกที่เปิดให้บริการ 23 ส.ค. 2553 “แอร์พอร์ตลิงก์” ต้องเจอกับปัญหา อุปสรรคมากมายในการให้บริการ เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพรถ จำนวนรถน้อย ปัญหาระบบการจัดซื้อจัดหาอะไหล่ การซ่อมบำรุง ตลอด 10 ปี แม้ผู้ใช้บริการจะตกอยู่ในสภาพ ”ใช้ไป...บ่นไป” ด้วยความอดทน แต่! ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้แอร์พอร์ตลิงก์กลายเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่มีความสำคัญในการเดินทางของคนเมืองไปแล้ว โดยมีสถิติจำนวนผู้โดยสารสูงสุดเกือบแสนคน/วัน
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรืออีกชื่อ “โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง” มีระยะทาง 28.6 กม. มูลค่า 25,900 ล้านบาท แรกเริ่มแนวเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟสายสีแดง (ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน) แต่ยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม ต้องการเร่งรัดเพื่อให้เป็นระบบรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับเมือง จึงมีการแยกโครงการออกมาก่อสร้างก่อน และเริ่มโครงการเมื่อปี 2547
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธา จัดซื้อขบวนรถ 2 แบบ คือ ขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) มี 5 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ ขบวนรถไฟฟ้าด่วน (Express) มี 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ ซึ่ง 1 ใน 4 เป็นตู้ที่ติดตั้งระบบจัดเก็บสัมภาระที่ไม่สามารถให้คนโดยสารได้ และกลายเป็นตู้ที่ต้องพ่วงวิ่งไปวิ่งมาโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจนถึงทุกวันนี้...
ว่ากันว่าการก่อสร้าง การซื้อรถ เกิดมหกรรม...รุมทึ้งผลประโยชน์ และทำให้บางกลุ่ม...บางพวก กระเป๋าตุงกันไป
ในส่วนของการเดินรถ รฟท.ได้ตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นบริษัทลูก โดย รฟท.ถือหุ้น 100% รับค่าจ้างเป็นรายปี โดยจัดส่งรายได้จากค่าโดยสารให้ รฟท. ขณะที่การจัดซื้อจัดหาอะไหล่ การซ่อมบำรุง จะต้องให้ รฟท.เป็นผู้อนุมัติและดำเนินการ ซึ่งกระบวนการที่มา และขั้นตอนล่าช้า ทำให้เกิดปัญหา และกลายเป็น...วิบากกรรมของแอร์พอร์ตลิงก์
อาการหนักสุด ช่วงรถ 4 ขบวนจอดรอซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) ตามวงรอบวิ่งครบ 1.32 ล้านกิโลเมตร แต่ติดปัญหาไม่มีอะไหล่ซ่อม การจัดจ้าง และสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ล่าช้า ส่วนอีก 5 ขบวนก็ต้องวิ่งไปลุ้นไป เพราะไม่รู้จะเดี้ยงเมื่อไรก็ได้
“รถเสียรายวัน...รถพังเป็นปกติ” แผนซื้อรถใหม่ 7 ขบวน วงเงิน 4,400 ล้านบาท ไม่คืบหน้า เพราะติดหล่มปัญหาทุจริต”
ทำให้มีการตั้งเพจ “วันนี้แอร์พอร์ตลิงก์เป็นอะไร” เกิดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้ใช้บริการได้แจ้งข้อมูลการใช้บริการระหว่างกัน ซึ่งแน่นอน เสียงตำหนิ ติเตียน ถึงบริการที่สุดแย่...แต่ก็ต้องทนใช้บริการเพราะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถสาธารณะอื่นที่ต้องเจอปัญหาจราจรที่วิกฤตกว่า
ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาในการให้บริการ พนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ต้องซ่อมบำรุงเอง ทำให้ผ่านการเรียนรู้ ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา และวิกฤตอันหนักหน่วง ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร
“สุเทพ พันธุ์เพ็ง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ในปี 2564 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะให้บริการครบ 1 ทศวรรษ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีบริษัทฯ ได้ดำเนินงานยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารตามมาตรฐานสากล และตามวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยบริษัทฯ ได้นำระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 มาใช้ในการดำเนินงาน ทั้งการซ่อมบำรุง และการปฏิบัติการเดินรถ การบริการอย่างต่อเนื่อง จนผ่านการรับรอง ISO 9001 : 2015 ขอบเขต : วิศวกรรมและซ่อมบำรุง และขอบเขต : งานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า จาก BV (Bureau Veritas) ทำให้การดำเนินงานของบริษัทมีมาตรฐาน และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในงานช่อมบำรุง และการให้บริการ โดยงานวิศวกรรมซ่อมบำรุงสามารถซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้า (Overhaul) และซ่อมบำรุงทั่วไป จนสามารถกลับมาให้บริการรถไฟฟ้าได้เต็มจำนวน 9 ขบวน รวมถึงปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน (Express) ปรับที่นั่งทำให้สามารถอำนวยความสะดวก และรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนงานบริการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ได้ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยภายในสถานีตามหลักการ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม มีการสร้างลิฟต์ บันไดเลื่อนเพิ่มเติมรวมทั้งหมด 140 ตัว นอกจากนั้นยังได้สร้างราวกั้นชั้นชานชาลา และยางปิดช่องว่างระหว่างขอบชานชาลา และประตูรถไฟฟ้า (Platform Gap Filler) เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของผู้โดยสาร รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์ (Potable wheelchair ramp) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทุพพลภาพ และคนพิการให้สามารถข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้าได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
@ ชงบอร์ด รฟท.ต่อมาตรการลดค่าตั๋วช่วงนอกเวลาเร่งด่วน
สำหรับมาตรการลดค่าโดยสาร เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น ได้ดำเนินการลดราคานอกช่วงเวลาเร่งด่วน (Off Peak Hour) วันจันทร์-วันศุกร์ ใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 05.30-07.00 น., 10.00-17.00 น. และ 20.00-24.00 น. ให้แก่ผู้โดยสารที่ถือบัตรสมาร์ทพาสประเภทบุคคลทั่วไป Adult Card จากอัตราค่าโดยสารปกติ 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารสถานีแรก 15 บาท สถานีที่สอง 20 บาท และสถานีที่ 3 เป็นต้นไปคิดค่าโดยสาร 25 บาท ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 30 มี.ค. สิ้นสุดไปเมื่อ 30 มิ.ย. 2563 โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือไปยัง รฟท.เพื่อขอจัดทำมาตรการลดค่าโดยสารอีกครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าจะได้รับอนุมัติและเริ่มมาตรการได้ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2563
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้โดยสารมากมาย ทั้งสิทธิ์เดินทางฟรี และจัดแคมเปญพิเศษในวันสำคัญต่างๆ จัดกิจกรรมด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมให้ผู้โดยสารกระจายการใช้บริการ เพื่อลดความแออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น มอบส่วนลดในการเดินทาง, มอบบัตรชมภาพยนตร์ และเสิร์ฟอาหารเช้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารประจำปี 2563 ซึ่งมีการเก็บรวบรวมถึง 2 ครั้ง ปรากฏว่าผู้โดยสารมีความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยคะแนนเต็ม 5 แบ่งเป็น ด้านความปลอดภัย เฉลี่ยอยู่ที่ 4.36, ด้านความน่าเชื่อถือของการเดินรถเฉลี่ยอยู่ที่ 4.23, ด้านการให้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 4.33, ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี และในขบวนรถเฉลี่ยอยู่ที่ 4.23, ด้านบัตรโดยสาร และการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.19 และด้านการประชาสัมพันธ์ และการให้ข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 4.17
@ผู้โดยสารรวมจ่อทะลุ 200 ล้านคน
ซีอีโอแอร์พอร์ตลิงก์ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารรวมนับตั้งแต่เปิดให้บริการถึงปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 185 ล้านคนแล้ว คาดว่าจะทะลุ 200 ล้านคนในปี 2564 แน่นอน โดยหลังจากเปลี่ยนเบาะที่นั่งขบวนรถด่วน ทำให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 150 คน/ขบวนเป็น 750 คน/ขบวน หรือเพิ่มความจุในการรับผู้โดยสารจาก 50,000 คน/วัน เป็น 90,000 คน/วัน
จากปีแรกที่เปิดมีผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ถึง 30,000 คน/วัน ขณะที่การเติบโต 11-12% ทุกปี ซึ่งช่วงแรกที่เกิดไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้โดยสารลดลงเหลือไม่ถึง 10,000 คน/วัน ล่าสุดเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการ ผู้โดยสารเริ่มเพิ่มขึ้น ล่าสุดมีถึง 57,100 คน/วันแล้ว โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 เช่นเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและปลอดเชื้อแก่ผู้โดยสาร
@ ปีที่ 10 กับภารกิจพิเศษ “เซตระบบส่งต่อ ซี.พี.-ทดลองเดินรถสีแดง”
ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับภารกิจจาก รฟท.ในการทดสอบการเดินรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต บางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยจะต้องเตรียมบุคลากร ขณะนี้ได้เปิดรับสมัครพนักงานจำนวน 158 คนแบบชั่วคราว เพื่อฝึกอบรมและเตรียมการทดสอบเดินรถสายสีแดงเสมือนจริงช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะมีพนักงานของแอร์พอร์ตลิงก์ 98 คนที่มีประสบการณ์เป็นครูฝึก เป้าหมายคือการเปิดเดินรถไฟสายสีแดงเต็มรูปแบบในเดือน พ.ย. 2564
ในการเดินรถไฟสายสีแดงต้องการพนักงานทั้งหมดประมาณ 800 คน ขณะที่บริษัทฯ มีพนักงานจำนวน 530 คน ดังนั้นอย่างน้อยต้องรับพนักงานเพิ่ม 256 คน
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการส่งมอบงานให้กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งได้จัดทีมเข้ามาประสานงาน ตรวจสอบระบบงาน ซึ่งทาง ซี.พี.เองจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับเดินรถต่อโดยที่ไม่เกิดการสะดุด
บริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลในสิ่งที่ต้องเตรียมล่วงหน้า เช่น การสั่งซื้ออะไหล่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อประมาณ 12 เดือน, การซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้า (Overhaul) ตามวงรอบการวิ่งครบ 3.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะครบประมาณต้นปี 2565 ดังนั้น ซี.พี.ต้องเตรียมกระบวนการสำหรับ Overhaul และต้องเตรียมเงินลงทุน 300-400 ล้านบาทไว้ให้พร้อม โดยบริษัทฯ และ ซี.พี มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกอย่างพร้อมและไม่เกิดปัญหาการเดินรถในช่วงที่เป็นรอยต่อ
ในส่วนของขบวนรถที่มี 9 ขบวนนั้น ช่วงแรก ซี.พี.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงตู้จัดเก็บสัมภาระจำนวน 4 ตู้ โดยติดตั้งเบาะที่นั่งให้สามารถรับผู้โดยสารได้ โดยจะปรับปรุง 1 ตู้แรกให้เสร็จก่อน ต.ค. 2564 จะต้องมีการวางแผนปรับปรุงช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่มีผู้โดยสารไม่มากเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ เนื่องจากตู้สัมภาระพ่วงติดกับขบวนรถไม่สามารถหยุดวิ่งทั้งขบวนเพื่อนำไปปรับปรุงได้
จากบริการ และจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้จากค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีรายได้จากค่าโดยสารถึงกว่า 800 ล้านบาท เฉลี่ย 60 ล้านบาท/เดือน ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดจนถึงปัจจุบัน รายได้ลดลงไปกว่า 40% ซึ่งจัดส่งรายได้เข้ารฟท.โดยตรง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากค่าสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์อีกประมาณ 40 ล้านบาท/ปี ซึ่งส่วนนี้เอกชนทำสัญญาตรงกับ รฟท.
ขณะที่ รฟท.จ่ายค่าจ้างในการบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ให้บริษัทฯ ประมาณ 300 ล้านบาท/ปี
ตลอด 10 ปีแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เคยปรับขึ้นค่าโดยสารเลย โดยยังคงจัดเก็บบุคคลทั่วไปที่อัตราเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท นักเรียน นักศึกษา ได้ส่วนลด 20% ผู้สูงอายุ ได้ส่วนลด 50%
แต่เมื่อส่งมอบให้เอกชนเข้ามาบริหารแทนภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยจะต้องจ่ายเงินอีก 10,671 ล้านบาท ค่าโดยสารคงมีการปรับขึ้นตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งผู้โดยสารก็ต้องรับสภาพ และอาจจะไม่มีมาตรการลดราคา ลดค่าครองชีพ เหมือนตอนที่อยู่ในความดูแลของ รฟท.อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปีที่ 10 ของแอร์พอร์ตลิงก์ กับ 3 ภารกิจสำคัญ 1. ทดสอบเดินรถสายสีแดง 2. ให้บริการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 3. ประสาน ซี.พี.เพื่อส่งมอบตามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อไม่ให้กระทบบริการ ...ถือเป็นความท้าทายสุดท้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนส่งไม้ต่อให้กลุ่ม ซี.พี.