บอร์ด รฟม.อนุมัติขยายเวลาลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 14-20 บาท จากสิ้นสุด 30 ก.ย. 63 ออกไปไม่มีกำหนด เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน หลังโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ เตรียมชงรัฐอุดหนุนส่วนต่างรายได้ หลังแบกขาดทุนเดือนละ 20 ล้าน หวั่นกระทบสภาพคล่อง เผยเงินสำรองเหลือแค่ 160 ล้าน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประะทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม( MRT สายสีม่วง) ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท และจ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จากอัตราปกติจ่ายสูงสุด 42 บาท ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 63 ออกไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชน จากผลกระทบจากโรคโควิด-19 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไม่ดี มีอัตราการเลิกจ้างงาน และการท่องเที่ยวและการบริการที่ซบเซา
ทั้งนี้ จากมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงดังกล่าว ทำให้ รฟม.มีรายได้ลดลงประมาณ 20 ล้านบาท/เดือน ซึ่งได้ดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 รวมเวลา 9 เดือน โดยใช้เงินสำรองที่มีเป็นกระแสเงินสด มาอุดหนุนส่วนต่างรายได้ที่ลดลง
สำหรับเงินสำรองของ รฟม.มาจากรายได้ 2 ส่วนหลัก คือ จากค่าโดยสารสายสีม่วง ประมาณ 400 ล้านบาท/ปี ค่าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประมาณ 2,500 ล้านบาท/ปี โดยปัจจุบันเงินสำรองเหลือ ประมาณ 160 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้มีกว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากล่าสุด รฟม.ถูกปรับลดงบในปี 2564 ทำให้ต้องนำเงินสำรองจำนวน 260 ล้านบาทไปใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีม่วง
โดยบอร์ด รฟม.เกรงจะกระทบต่อสภาพคล่อง จึงให้ รฟม.รายงานฝ่ายนโยบายรับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อขอรับการอุดหนุนส่วนต่างรายได้จากมาตรการลดค่าโดยสารสายสีม่วง จากรัฐบาล ซึ่งจะเร่งสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้
สำหรับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันวันธรรมดา มีเฉลี่ย 40,000 เที่ยว-คน/วัน ลดลงจากช่วงก่อน เกิดโรคโควิด-19 ที่มีเฉลี่ย 62,000 เที่ยว-คน/วัน ขณะที่วันหยุดผู้โดยสารเหลือประมาณ 20,000 เที่ยว-คน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน วันธรรมดามีเฉลี่ย 330,000 เที่ยว-คน/วัน จากเดิมมีประมาณ 400,000 เที่ยว-คน/วัน ส่วนวันหยุดเหลือประมาณ 200,000 เที่ยว-คน/วัน