บ้านปูปรับแผนธุรกิจในช่วงปี 63-64 อยู่ในโหมดตั้งรับ ไม่มีการลงทุนใหญ่หลังเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์ที่สหรัฐฯ ที่ปิดดีล ต.ค.นี้ เหตุ ศก.ฟื้นตัวช้าจากโควิด-19 และราคาถ่านหินต่ำเฉลี่ย 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเข้าสู่โหมดธุรกิจของการตั้งรับ (Defensive Mode) หลังสิ้นสุดการใช้วงเงินลงทุนใหญ่เพื่อเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในสหรัฐฯ มูลค่า 570 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะปิดดีลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมทั้งเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 กดดันราคาถ่านหินทรงตัวในระดับต่ำ โดยบริษัทคาดว่าจะกลับมาขยายการลงทุนอีกครั้งในปี 2565-68
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้าจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์เข้ามาในไตรมาส 4/63 สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้บริษัททันที 50 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป และธุรกิจไฟฟ้าที่จะเติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจถ่านหินจะยังคงตรึงปริมาณขายที่ระดับ 42 ล้านตัน/ปี พร้อมกับมุ่งเน้นการลดต้นทุนต่อเนื่อง
"งบลงทุนปีหน้าน่าจะยังน้อยกว่าปีนี้ เพราะเป็นช่วง Defensive ตัวเลขยังไม่ออก ตอนนี้ทำ strategic plan อยู่ ที่ตัดไปก็จะเปลี่ยนเป็น existing operation พวก greenfield เป็นพวกที่จะลงทุนในปีที่ 3-4 อย่างการหาซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ ก็ยังไม่ต้องเร่งรีบอะไร ปีหน้าก็คงจะเริ่มดู เพราะคงเริ่มเดินทางได้แล้ว แต่ก็เชื่อว่าน่าจะยังไม่จบในปีหน้า" นางสมฤดีกล่าว
ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดิมที่ตั้งงบลงทุนไว้ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่เจรจาต่อรองราคาการเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์เหลือราว 570 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัดสินใจล้มแผนการซื้อโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งในออสเตรเลียและเวียดนามที่ได้เข้าไปศึกษาก่อนหน้านี้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วบางส่วน และคงเหลือที่จะใช้อีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเพื่อปิดดีลซื้อแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์ และอีก 66 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ในเวียดนาม ทำให้บริษัทรับรู้ผลการดำเนินงานของทั้ง 2 กิจการเข้ามาในไตรมาส 4 นี้
นางสมฤดีกล่าวต่อไปว่า ธุรกิจก๊าซฯ ในสหรัฐฯ หลังการเข้าซื้อแหล่งบาร์เนตต์จะมี EBITDA เข้ามาทันที 50 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปในไตรมาส 4 นี้ และเมื่อรวมกับแหล่งก๊าซ Marcellus shale ที่มีอยู่แล้วจะสร้าง EBITDA ให้กับบริษัทได้ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี บนสมมติฐานราคาก๊าซฯ ที่ 2.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซฯ ในช่วง 7 เดือนครึ่งของปีนี้อยู่ที่ 1.6-1.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 2.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูในปัจจุบัน ซึ่งราคาก๊าซฯ ที่ปรับขึ้นทุก 10 เซ็นต์/ล้านบีทียู จะทำให้มี EBITDA เพิ่มขึ้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 2564 บริษัทมีปริมาณขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากเฉลี่ยปีนี้ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยบริษัทจะยังไม่เร่งปริมาณการขายก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้นเพราะจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มในการขุดเจาะหลุมผลิต และแหล่งบาร์เนตต์นับว่ามีหลุมผลิตมากถึง 4,700 หลุมซึ่งเพียงพอรองรับการขายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ส่วนโอกาสการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯ นั้น บริษัทลงนามเพื่อศึกษาโอกาสความร่วมมือกับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซที่มีสาย Value Chain ที่ยาวมาก ขณะที่บริษัทมีเพียงธุรกิจเดียวคือก๊าซฯ ต้นน้ำ จึงมองโอกาสขยายไปยังธุรกิจอื่นใน Value Chain อาจเป็นการขายก๊าซฯ ผ่านเข้าท่อ หรือส่งออก หรือการทำเทรดเดอร์ แต่ในส่วนขั้นปลายคงไม่ได้ดำเนินการแน่นอน คือในสายธุรกิจปิโตรเคมี รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปปีนี้
นางสมฤดีกล่าวว่า ธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้นปัจจุบันราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน และน่าจะยังทรงตัวอยู่ในช่วงนี้ต่อไปในระยะยาว จากสถานการณ์โควิดของหลายประเทศที่ยังไม่ได้ดีขึ้น มีเพียงจีนที่คลี่คลาย และเห็นการนำเข้าถ่านหินฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลดีต่อบริษัทในการทำตลาดที่จีน แต่ก็ถูกหักล้างจากตลาดอินเดียที่มีการนำเข้าลดลงมากจากโควิด-19
ดังนั้น ในช่วงนี้บริษัทก็จะรักษาระดับการขายถ่านหินจากแหล่งผลิตของบริษัทไว้ที่ 42 ล้านตัน/ปี มาจากเหมืองออสเตรเลีย 13 ล้านตัน อินโดนีเซีย 22 ล้านตัน และจีน 7 ล้านตัน แต่หากราคาถ่านหินขยับขึ้นเกิน 75 เหรียญสหรัฐ/ตัน บริษัทก็พร้อมจะเพิ่มเป้าหมายการขายกลับไปสู่ระดับ 45 ล้านตัน/ปีตามเดิม
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2463 มีทิศทางที่ดีขึ้นจากธุรกิจก๊าซฯ ที่ได้แหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์เข้ามา และการลดต้นทุนของธุรกิจถ่านหิน ส่วนธุรกิจไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าหงสา ในลาวที่กลับมาเดินเครื่องผลิต หลังจากหยุดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 2/63 รวมถึงจะมีโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นที่จะ COD อีก 20 เมกะวัตต์ และจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ในเวียดนามเข้ามาทันทีหลังจากซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาส 4/63 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG) ในประเทศจีน ที่เดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/63 ก็จะเลื่อนเป็นในช่วงไตรมาส 1/64
สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 2564 คาดจะดีกว่าปี 2563 จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งก๊าซฯ บาร์เนตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ได้เต็มปี รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง ก็จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/64 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Soc Trang ในเวียดนาม ก็จะเปิดดำเนินการในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับการลดต้นทุนการผลิตในธุรกิจถ่านหินอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานด้วย