xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมมั้ย! เลิกไม้กั้นมอเตอร์เวย์-ทางด่วน “ศักดิ์สยาม” สั่งลุยปี 64 ส่องทะเบียนรถหักเงิน-เบี้ยวหนี้ผิด กม.เจอปรับ 10 เท่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ศักดิ์สยาม” ดีเดย์ต้นปี 64 ยกเลิกไม้กั้นมอเตอร์เวย์ “ด่านทับช้าง” นำร่องใช้กล้องส่องป้ายทะเบียนรถ ส่งบิลเก็บเงินถึงบ้าน พร้อมชง คจร.ไฟเขียวกรณีเบี้ยวหนี้มีความผิดตาม กม. ค่าปรับ 10 เท่า ลั่นสิ้นปี 64 ทั้งทางด่วน-มอเตอร์เวย์จะไม่มีไม้กั้นแล้ว สั่งหาทางเยียวยากรณีโละพนักงานเก็บเงิน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนยานพาหนะระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ ขบ. ทล. กทพ. และเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการทางด่วนและมอเตอร์เวย์แบบไม่มีไม้กั้นหน้าด่านเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้ให้นโยบาย กทพ. และ ทล.ศึกษาการนำระบบการให้บริการทางด่วนและมอเตอร์เวย์แบบไม่มีไม้กั้น Multi-Lane Free Flow หรือ M-Flow เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่านฯ โดยทั้ง ทล.และ กทพ.ได้หารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานเพื่อบูรณาการทำงานในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) คือ นำระบบกล้องอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ เป็นระบบ AI ส่งข้อมูลเชื่อมต่อกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเรียกเก็บค่าผ่านทาง โดยให้ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หักค่าบัตรเครดิต, แจ้งบิลค่าใช้จ่ายรายเดือน ลักษณะเหมือนบิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือ โดยเจ้าของรถจะต้องโหลดแอปฯ และลงทะเบียนเพื่อเลือกวิธีการชำระเงิน

ทล.กำลังประมูลหาผู้รับจ้างเข้ามาติดตั้งระบบ ซึ่งจะทดสอบระบบเสร็จภายในสิ้นปี 2563 และหลังปีใหม่ 2564 จะเริ่มนำร่องยกเลิกไม้กั้นถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (มอเตอร์เวย์ สาย 9) ที่ด่านทับช้าง จากนั้นจะขยายไปครบทุกด่านของมอเตอร์เวย์ ส่วนทางด่วนของ กทพ.จะเริ่มนำร่องที่ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ (ทางพิเศษฉลองรัฐ) เช่น ด่านบางนา กม.6, ด่านดาวคะนอง และจะขยายไปครบทุกด่านทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วนภายในปี 2564 จากนั้นจะทยอยเอาตู้ที่ด่านออกเพื่อเปิดพื้นที่

“ด่านทับช้าง มีปริมาณจราจร 4 แสนคัน/วัน กำหนดว่าปีใหม่ 64 จะใช้รูปแบบใหม่ ทั้งด่านจะไม่มีไม้กั้น และใช้กล้อง AI สแกนป้ายทะเบียนรถเพื่อเรียกเก็บเงินแทน ซึ่งจะให้ทั้ง ทล. กทพ. และเอกชน เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลประชาชน ไม่ให้เกิดความสับสน และวุ่นวาย เรื่องนี้อาจจะใหม่สำหรับคนไทยแต่ในต่างประเทศใช้กันมานานแล้ว นอกจากนี้ ต้องหาแนวทางเยียวยาพนักงานเก็บค่าผ่านทางที่จะได้รับผลกระทบจากการนำระบบ AI เข้ามาทำงานแทน”

ระบบนี้นอกจากแก้รถติดหน้าด่านแล้ว ยังจะเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าผ่านทางในหลายช่องทาง นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาการสูญเสียรายได้จากค่าผ่านทางกรณีมีการติดค้าง หรือฝ่าด่านโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งที่ผ่านมามีหนี้ติดค้างประมาณ 2% ของรายได้ต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณรถบนทางด่วนกว่า 1.9 ล้านคน/วัน ถือว่าค่อนข้างสูง โดย ทล. และ กทพ.จะว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่เรียกเก็บค่าผ่านทางส่งให้ ทล.และ กทพ. ครบ 100% กรณีมีการติดค้างเอกชนมีหน้าที่ทวงหนี้และมีค่าปรับเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นจะมีค่าปรับประมาณ 10 เท่า

นอกจากนี้ ได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการไม่ชำระค่าผ่านทางพิเศษ ให้กำหนดเป็นความผิดภายใต้ พ.ร.บ.จราจร ซึ่งเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แล้วเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ต่อไป

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การเก็บค่าผ่านทางโดยสแกนป้ายทะเบียนรถนั้น ทล.จะดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1. ติดตั้งระบบควบคุมการจัดเก็บค่าผ่านทาง ที่อาคารศูนย์บริหารจัดการจราจร (CCB) ลาดกระบัง อยู่ระหว่างประมูลหาผู้รับจ้าง วงเงิน 180 ล้านบาท 2. ประมูลหาผู้รับจ้าง ในการบริหารจัดการ โดยจะเป็นผู้ติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 4 ด่าน คือ ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2 ทำหน้าที่ส่องป้ายทะเบียน ซึ่งส่วนของกล้อง CCTV จะจ่ายเป็นรายเดือนและทำหน้าที่เก็บค่าผ่านทาง โดยแจ้งบิลไปยังเจ้าของรถ รวมถึงติดตามทวงหนี้ ซึ่งส่วนนี้จะมีสัญญาแบบปีต่อปี

ด้าน นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ระบบของกรมการขนส่งฯ มีความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลป้ายทะเบียนรถกับกรมทางหลวงและ กทพ.เพื่อใช้ในระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใหม่ ซึ่งปัจจุบันมี 30 หน่วยงานที่เชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งฯ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือหน่วยงานด้านประกันภัย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือ การรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของรถ ซึ่งกรมฯ มีระบบป้องกันอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น