กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ รับคำขอ “ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ เผยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำดินโคลนจากธรรมชาติมาย้อมผ้า เพื่อเพิ่มมูลค่า มั่นใจหลังขึ้นทะเบียน GI แล้วจะยิ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ระบุยังได้ดูการเลี้ยง “ปลานิลกระชังแม่น้ำโขง” จ.หนองคาย เล็งผลักดันขึ้นทะเบียน GI ใหม่ต่อไป
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำทีมลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อรับคำขอ “ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ ณ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ โดยมีคณะผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมให้ข้อมูล ความโดดเด่นของสินค้า ที่มาที่ไป และกระบวนการผลิตที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกรมฯ จะตรวจสอบรายละเอียดคำขอและพิจารณารับขึ้นทะเบียน GI ต่อไป
“ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำดินโคลนจากธรรมชาติมาสร้างมูลค่า โดยการนำโคลนจากริมแม่น้ำโขงมาหมักกับผ้าฝ้ายด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ผ้ามีสีเทาเข้ม มีผิวสัมผัสนุ่ม มันวาว และมีกลิ่นหอมละมุนของไอดิน เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวบึงกาฬ หากได้รับการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และสินค้ายังได้รับการคุ้มครอง ใครจะมาผลิตและใช้ชื่อเลียนแบบไม่ได้” นายทศพลกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้นำคณะลงตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬในพื้นที่บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬด้วย ซึ่งพบว่า กระบวนการผลิต มีความแตกต่าง มีความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นจริง โดยได้เน้นย้ำให้ชุมชนร่วมรักษาคุณภาพสินค้าคงไว้ซึ่งความมีอัตลักษณ์ และคุมคุณภาพมาตรฐานให้คงที่
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ครั้งนี้ตามหาสินค้าที่มีโอกาสขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ โดยพบว่าปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย เป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ได้ ซึ่งปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง เลี้ยงในน้ำไหลทำให้ปลามีเนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นโคลน ไขมันน้อย รสชาติดี โดยหน่วยงานในพื้นที่จะศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากต่อไป