xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ส.ค.ลดลง 0.50% เผยอาหารเริ่มขยับ ผักแพงสุดในรอบ 13 เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 63 ลดลง 0.50% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน เผยพลังงานเป็นตัวฉุดหลัก แต่หมวดอาหารราคาเริ่มขยับ ผักสดสูงสุดในรอบ 13 เดือน ส่วนเนื้อหมูยังทรงตัวในระดับสูง สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นเคลื่อนไหวสอดคล้องความต้องการ คาดทิศทางเงินเฟ้อจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาคเกษตรที่ราคาขยับ มาตรการอัดฉีดของรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ส.ค. 2563 เท่ากับ 102.29 เพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่ลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2562 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนพ.ค. 2563 ที่ติดลบ 3.44% มิ.ย. 2563 ติดลบ 1.57% และ ก.ค. 2563 ติดลบ 0.98% และหดตัวในอัตราที่น้อยลงเรื่อยๆ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) ลดลง 1.03% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับเดือน ก.ค. 2563 ไม่เปลี่ยนแปลง เทียบกับเดือน ส.ค. 2562 เพิ่มขึ้น 0.30% และเฉลี่ย 8 เดือน เพิ่มขึ้น 0.33%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบน้อยลง มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.73% เช่น การขนส่งและการสื่อสาร ลด 4.50% จากการลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลให้กลุ่มพลังงานลด 9.70% ค่าโดยสาร เช่น รถไฟลอยฟ้า ค่าเรือ ลด 0.02% การสื่อสาร เช่น เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ลด 0.04% เคหสถาน เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำประปา น้ำยาปรับผ้านุ่ม ลด 0.12% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.04% ค่าทัศนาจร ห้องพักโรงแรม ลด 0.22% แต่หมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมชาย เพิ่ม 0.31% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.62% โดยเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการบริโภค เช่น ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 1.49% เนื้อสัตว์ เป็ด สัตว์น้ำ เพิ่ม 3.12% โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ราคายังทรงตัวสูงตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ผักสด เพิ่ม 13.94% เช่น ผักชี มะเขือเทศ ต้นหอม ถือว่าราคาสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากฝนตกชุกทำให้ผักเสียหาย เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.09% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.96% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.48% นอกบ้าน เพิ่ม 0.88% แต่ผลไม้ ลด 4.99%
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2563 และเดือนต่อๆ ไป คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ลดลง เพราะทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคเกษตรที่ผลผลิตทางการเกษตรหลายรายการมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย และยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของรัฐที่ผลักดันให้คนมีงานทำ การแจกเงิน 3,000 บาท เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ราคาน้ำมันก็ไม่เป็นปัจจัยกดดันเพราะยังทรงตัว ไม่เพิ่มและไม่ลดมาก ทำให้ทั้งปียังคาดการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%


กำลังโหลดความคิดเห็น