เงินเฟ้อ ม.ค. 63 เพิ่ม 1.05% สูงสุดรอบ 8 เดือน หลังราคาอาหารสดพุ่ง ราคาพลังงานกลับมาขยายตัวอีกครั้งรอบ 9 เดือน คาดแนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไปขยับต่อเนื่อง ส่วนพิษไวรัสโคโรนาฉุดคนกินข้าวนอกบ้านลดแน่ แต่ทั้งปีมั่นใจอยู่ในกรอบ 0.4-1.2%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ม.ค. 2563 ดัชนีอยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 และเพิ่มขึ้น 1.05% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2562 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือน พ.ค. 2562 ที่ขยายตัว 1.15% และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ ดัชนีอยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 และเพิ่มขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2562
สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2563 เพิ่มขึ้น 1.05% เพราะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีการแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.82% เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ส่วนผักสดลดลง ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.62% เช่น น้ำมัน ค่าโดยสาร เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การรักษาและบริการส่วนบุคคล การบันเทิง การอ่าน การศึกษา แต่การสื่อสาร ยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง
“เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ที่เพิ่มขึ้น เพราะมีเทศกาลตรุษจีน ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางรายการสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล จากโครงการประกันรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เกษตรกร และประชาชนมีรายได้มาจับจ่ายเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ หากพิจารณา 422 รายการที่คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 238 รายการ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันดีเซล ค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 106 รายการ เช่น ผักสดชนิดต่างๆ นมผง เป็นต้น และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 78 รายการ
สำหรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เดือน ม.ค. 2563 ยังไม่เห็นชัดเจน น่าจะเห็นผลชัดในเดือน ก.พ. เพราะจะทำให้การบริโภคอาหารนอกบ้านลดลง จากการที่ประชาชนไม่อยากออกไปนอกบ้าน และอาจจะฉุดให้ราคาลดลงตาม แต่ยังคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะขยายตัวใกล้เคียง 1% ส่วนทั้งปียังคงยืนยันเป้าหมายที่ 0.4-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการ จะสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง