ปตท.รับมือเปิดเสรีก๊าซฯ ผันตัวเป็นผู้พัฒนาตลาดก๊าซฯ เน้นทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดปีนี้ส่งออก LNG ไปตลาด CLMV ราว 65,000 ตัน จากดีมานด์ก๊าซฯ ตลาดนี้กว่า 1 ล้านตัน ส่วนตลาดในไทยเน้นเจาะลูกค้าอุตสาหกรรม
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.วางเป้าหมายเป็นผู้พัฒนาตลาดก๊าซธรรมชาติ (gas marketers) จากเดิมที่เน้นความเป็นเลิศด้านการผลิต (operation excellence) เพื่อรองรับการเปิดเสรีก๊าซฯ มากขึ้น ประกอบกับปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยเริ่มลดต่ำลง และความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศไม่โตมากนัก ดังนั้น ปตท.มองโอกาสการขยายตลาดดังกล่าวในต่างประเทศเป็นหลัก
โดยแนวทางการดำเนินการ มีทั้งรูปแบบการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG HUB) เพื่อนำเข้าและส่งออก LNG ไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการใช้มาก รวมถึงการเปิดตลาดก๊าซฯ ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในพม่า ที่ปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในนิคมฯ พื้นที่ย่างกุ้ง ซึ่งมีนิคมฯ มากกว่า 10 แห่ง โดย ปตท.ได้เข้าไปศึกษา 2-3 แห่ง เพื่อป้อนก๊าซฯ รองรับการใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะเป็นลักษณะส่งผ่านทางท่อ หรือในรูปแบบของ LNG
นายวุฒิกรกล่าวว่า ส่วนการเป็นเทรดเดอร์ LNG ในภูมิภาคนั้น ปัจจุบัน ปตท.ได้เริ่มทดลองดำเนินการบ้างแล้วเมื่อช่วงต้นปีนี้ ที่นำเข้า LNG แล้วส่งออกไปยังจีนตอนใต้ แต่ติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชะลอแผนงานไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ปตท.จะกลับมาดำเนินการเทรดดิ้ง LNG ได้ใหม่ในช่วงไตรมาส 3/63 หรือปลายปีนี้ ภายใต้โครงการ LNG HUB ส่วนในอนาคตหากจะให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ คงต้องได้การสนับสนุนพิเศษจากภาครัฐเพิ่มเติม
ปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใน 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Regional LNG HUB เพื่อร่วมทดสอบว่ามีกฎหมายใดที่ต้องปรับแก้ไขเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันได้ โดยปัจจุบันการดำเนินการยังอยู่ภายใต้เกณฑ์เดิมที่มีอยู่ และอัตราค่าบริการก็เท่ากับอัตราผู้ใช้ในประเทศ คาดว่าจะส่งผลสรุปให้กับ กกพ.ได้ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 64 โดยการส่งออก LNG ของ ปตท.จะเป็นการส่งเฉพาะ LNG ออกไปยังผู้รับประเทศปลายทางที่อาจจะต้องไปแปลงสภาพจาก LNG ซึ่งเป็นของเหลว เพื่อเป็นก๊าซฯ ก่อนที่จะนำไปใช้งานต่อไป
สำหรับตลาดในภูมิภาค CLMV ทั้งพม่า ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม รวมถึงจีนตอนใต้ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ LNG มากกว่า 1 ล้านตัน/ปี โดย ปตท.วางเป้าที่จะทำการตลาดในระดับดังกล่าว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นสำเร็จได้ในช่วงเวลาใด แต่ในปี 63 คาดว่าจะได้เห็นการส่งออกในระดับ 65,000 ตัน ซึ่งตลาดก๊าซฯ ในภูมิภาคนี้จะกลับมาเป็นปกติในช่วงกลางปี 64 หรือในช่วงปลายปี 64 หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ ปตท.ก็ยังให้ความสำคัญกับตลาดก๊าซฯ ในประเทศ โดยเน้นการขายในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งการขาย LNG ทางรถให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นการขนส่งทางรถยนต์ให้กับลูกค้าที่อยู่นอกแนวท่อ รวมถึงมีกลุ่มลูกค้านิคมฯ ที่ซื้อก๊าซฯ ผ่านท่อ แล้วเชื่อมท่อเข้าโรงงานของลูกค้านิคมฯ ต่อไป
สำหรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ในอนาคตนั้น ควรปล่อยให้มีการแข่งขัน โดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด และให้ผลตอบแทนสะท้อนต้นทุนการลงทุน ขณะที่ค่าบริการในปัจจุบันแยกเป็นตามโซนพื้นที่ เช่น ในทะเล บนบก เป็นต้น โดยปัจจุบัน ปตท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อผลักดัน GPSC เข้าร่วมยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อ กกพ. เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นที่ได้รับใบอนุญาต Shipper ไปแล้ว ทำให้สามารถนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง