จากความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (climate change) และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา ซึ่งนานาประเทศต่างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จนนำมาซึ่งข้อตกลงร่วมกันในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อน
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำด้านพลังงานชั้นนำของไทย กำหนดบทบาทสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 รวมทั้ง ปตท.มีนโยบายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในกลุ่ม ปตท.เฉลี่ยต่อพลังงานที่ผลิตน้อยลง เพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น ดังนั้น กลุ่ม ปตท.กำหนดเป้าหมายมีพลังงานทดแทนรวม 8 พันเมกะวัตต์ (MW) ใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไม่ถึง 1 พันเมกะวัตต์ ทำอย่างไรที่จะให้บรรลุเป้าหมาย นับเป็นสิ่งท้าทายของบริษัทในกลุ่ม ปตท.
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการพึ่งพาบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็น Flagship ธุรกิจไฟฟ้าในเครือ ปตท.ก็คงไม่จะไม่เพียงพอและทันเวลาได้ เนื่องจาก GPSC ก็มีข้อจำกัดด้านความพร้อมทางการเงิน หากมีการลงทุนขนาดใหญ่เนื่องจากปีที่แล้วเพิ่งจบดีลการเข้าซื้อกิจการบริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW มูลค่านับแสนล้านบาท
ดังนั้น ปตท.มีแผนในการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าใหม่ ภายใต้ GPSC ยังเป็น Flagship ธุรกิจไฟฟ้าเหมือนเดิม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 คณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. โดยให้ ปตท.ซื้อหุ้นสามัญบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ถืออยู่ทั้งหมด 251,173,540 หุ้น มีมูลค่าตราไว้หุ้นละ 10.00 บาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.91% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,882 ล้านบาท ส่งผลให้ ปตท.ถือหุ้น GPSC เพิ่มขึ้นจาก 22.81% เป็น 31.72% สอดคล้องกับ flagship อื่น
ส่งผลให้ ปตท.มีสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC เกินกว่า 25.00% นั้น ปตท.มีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ GPSC แต่ทาง ปตท.ได้ขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของGPSC กับสานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ได้มีมติผ่อนผันให้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ ปตท.ไม่ต้องทำTender Offer เนื่องจากการได้มาของหุ้น GPSC ครั้งนี้ ทาง ปตท. และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 258 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้แก่ ไทยออยล์ และบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC รวม 75.23% ของหุ้นทั้งหมด จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมกิจการของใน GPSC
ปตท.ควักเงินซื้อหุ้น GPSC เพิ่ม
สำหรับรูปแบบการปรับโครงสร้างการถือหุ้นนั้น ทาง ปตท.จะโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทไทยออยล์ เพาเวอร์จำกัด (TP) ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นร่วมกับไทยออยล์ ในสัดส่วน 26% และ 74% ตามลำดับให้แก่ ไทยออยล์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากิจการของ TP ประมาณ 26,773 ล้านบาท ซึ่งการโอนกิจการทั้งหมดของ TP เป็นการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิหน้าที่และภาระผูกพันทั้งหมดของ TP ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่โอนกิจการทั้งหมด รวมถึงสัญญาและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและที่ใช้ในการประกอบธุรกิจและภายหลังการโอนกิจการทั้งหมดของ TP ให้แก่ไทยออยล์
ก่อนที่ TP จะยุติการประกอบธุรกิจ และจะดำเนินการเลิกบริษัทไป โดยจะมีการชำระบัญชีแล้วเสร็จ TP จะดำเนินการแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของ TP คืนให้แก่ ไทยออยล์ และ ปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้น
ทำให้ ปตท.ได้ผลตอบแทนจากการเป็นผู้ถือหุ้น TP 6,960 ล้านบาท รวมทั้งได้รับคืนเงินกู้ที่ให้ TP ยืมไป 4,000 ล้านบาท เมื่อหักเงินที่ต้องจ่ายค่าซื้อหุ้น GPSC ให้ ไทยออยล์ 16,882 ล้านบาท เท่ากับว่า ปตท.ควักเงินออกจากกระเป๋าเพิ่มจริงๆ ประมาณ 5,922 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไทยออยล์ครั้งที่ 1/2563 โดย ปตท.คาดว่าจะลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ภายในปี 2563
นายอรรถพลกล่าวย้ำว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้น GPSC ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ GPSC และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.ใน GPSC เป็น 31.72% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับการถือหุ้นในฐานะ Flagship ของ ปตท. และไทยออยล์ยังคงถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 20.78% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ทั้งนี้ ปตท.มีแหล่งเงินทุนเพียงพอสำหรับทำธุรกรรมกรรมดังกล่าว โดยไม่มีความจำเป็นในการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมหลังจากได้มีการออกหุ้นทั้งสกุลบาท และดอลลาร์สหรัฐไปก่อนหน้านี้ ทำให้ ปตท.มีเงินสดในมือราว 1 แสนกว่าล้านบาท
GPSC หารือ ปตท.สรุปรูปแบบความร่วมมือธุรกิจไฟฟ้า
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบความร่วมมือในธุรกิจไฟฟ้ากับบริษัทแม่ คือ ปตท. เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต คาดจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 นี้ ในฐานะเป็นแกนนำที่ส่วนสำคัญผลักดันให้กลุ่ม ปตท.บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนรวม 8,000 เมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีนี้ (ปี 2563-72) โดย 5 ปีแรกตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนราว 3,000 เมกะวัตต์
ในฐานะที่ GPSC เป็น Flagship ธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. การเร่งให้บริษัทฯ มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องมีการบูรณาการจุดแข็งร่วมกัน ซึ่ง GPSC มีความรู้ มีคน และข้อมูล ส่วน ปตท.มีการเงินที่แข็งแกร่งแลดูบุคลากร ฯลฯ ซึ่งมีความพร้อมมากกว่า ถ้าปตท.มาร่วมด้วยจะทำให้มีแหล่งเงินมากขึ้นก็จะเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น โดย ปตท.มีแผนชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทาง GPSC มีความพร้อมในเรื่องรูปแบบ ที่เหลือ ปตท.ตัดสินใจว่ารูปแบบที่จะร่วมกันเป็นรูปแบบไหน
สอดรับเป้าหมายกลุ่ม ปตท.มีพลังงานทดแทนแตะ8,000เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ดังนั้น การโตในธุรกิจไฟฟ้านับจากนี้ไปจะเห็นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดย GPSC มองการลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเมียนมา เวียดนาม และไต้หวัน รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัท Tatung Co., Ltd. (Tatung) ได้อนุมัติการขายหุ้น 90% ของบริษัท Sheng Yang Energy Co., Ltd. ซึ่งถือโดยบริษัท Tatung Forever Energy Co., Ltd. (TFE) บริษัทลูกของ Tatung ให้แก่บริษัท โกลบอลรีนิวเอเบิลเพาเวอร์ จำกัด (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ GPSC ถือหุ้นทั้ง 100%
โดยดีลดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาต่อรองมูลค่าของหุ้นที่ซื้อขาย และรายละเอียดอื่นๆ ของสัญญาซื้อขายหุ้นก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวต่อไป โดยในการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้GPSC เล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ Sheng Yang Energy บริหารจัดการอยู่ อีกทั้งเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัทในต่างประเทศ และช่วยพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ
ทั้งนี้ Sheng Yang Energy Co., Ltd. มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้การบริหารจัดการ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 55.8 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้ว 53.8 เมกะวัตต์ หากดีลนี้การเจรจาประสบความสำเร็จ GPSC จะมีพอร์ตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 30% ใน 10 ปีข้างหน้าโครงการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตพลังงานทดแทนมากกว่า 500 เมกะวัตต์ หรือราว 11% ของกำลังการมือที่มีอยู่ 5,026 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน โดยมีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ โดยมีการลงทุน 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และญี่ปุ่น
ส่วนอินเดีย ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุนโซลาร์ฟาร์มด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากนี้ GPSC ยังมองเห็นโอกาสการเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมาอย่างน้อย 4โครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Gas to Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ โดย GPSC ร่วมกับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากทางการพม่า, โครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ของ New Yangon Development Company (NYDC) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท., โครงการความร่วมมือกับ ปตท. พัฒนาโครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ บมจ.โกลว์พลังงาน (GLOW) เคยศึกษาไว้ก่อนที่จะมีการควบรวมกับ GPSC
ไทยออยล์ขาย-รับโอนหุ้นได้เงินเฉียด 6 พันล.
ด้านไทยออยล์ระบุว่า การปรับสัดส่วนและโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า ช่วยลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าทำให้การบริหารจัดการและขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินธุรกิจมีความชัดเจนคล่องตัวและมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดส่วนเพิ่มสุทธิด้วย ช่วยส่งเสริมสภาพคล่องและทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ แข็งแกร่งขึ้น เพื่อใช้ลงทุนโครงการต่างๆ ขณะเดียวกันยังรักษาอัตรากำไรจากธุรกิจไฟฟ้าด้วยแม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ถืออยู่ 24.3% จะเหลือเพียง 20.8% ก็ตาม
ทั้งนี้ การขายหุ้น GPSC ของไทยออยล์จำนวน 8.9% ให้กับ ปตท. คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 16,882 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาก่อนหักเงินปันผลของ GPSC หลังวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ขณะเดียวกัน ไทยออยล์รับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) ของ TP ซึ่งเป็นบริษทย่อยของไทยออยล์ที่ถือหุ้นอยู่ 74% โดย TP มีราคาประเมินมูลค่ากิจการประมาณ 26,773 ล้านบาท ดังนั้น ไทยออยล์รับโอนกิจการ TP ในสัดส่วน 26% คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,961 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไทยออยล์จะได้รับกระแสเงินสดภายหลังจากการการจำหน่ายหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมด เป็นจำนวน 5,900 ล้านบาท โดยบริษัทเห็นว่าราคาขายหุ้น GPSC ให้ ปตท.เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่น้อยไปกว่าราคาขายหุ้นให้กับบุคคลภายนอก อีกทั้ง ปตท.เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน GPSC จะส่งผลดีในระยะยาวเพราะ ปตท.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
หลังจาก ปตท.ดำเนินธุรกรรมการซื้อหุ้นGPSCและธุรกรรมการโอนหุ้น TP ให้กับไทยออยล์แล้ว ส่งผลให้ ปตท.ถือหุ้นใน GPSC เพิ่มเป็น 31.72% ทาง ปตท.ยังไม่มีแผนในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น GPSC เพิ่มเติมอีก แต่จะศึกษาและพิจารณาโอกาสในการเข้าลงทุนหรือขยายกิจการเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคตร่วมกับ GPSC ซึ่งรูปแบบความร่วมมือจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ รวมทั้งความชัดเจนให้ GPSC การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ไปก่อนหน้านี้