xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ลุยปั้นเด็ก Gen Z เป็น CEO ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ตั้งเป้า 12,000 ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ลุยปั้นเด็ก Gen Z ในมหาวิทยาลัย เป็น CEO ทำธุรกิจการค้าออนไลน์ ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้ 12,000 รายทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าของไทย ทั้งการค้าขายในประเทศและส่งออก ย้ำโลกเปลี่ยน การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม การผลิตสินค้าและบริการ ต้องเน้นตลาดนำการผลิต ส่วนช่องทางขายต้องมุ่งสู่การค้าออนไลน์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานกล่าวกับนักศึกษาใน 7 มหาวิทยาลัยภาคเหนือ จำนวน 1,500 คน ที่เข้าร่วมโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ “From Gen Z to CEO” ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom conference ว่า โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน มีเป้าหมายอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากเป็นซีอีโอ เพราะปัจจุบันมีหลายคนไม่อยากทำงานบริษัท ไม่อยากเข้าไปอยู่ในองค์กร อยากเป็นนายตัวเอง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็เลยจัดทำโครงการขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการ
“กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มต้นที่ 7 สถาบันการศึกษาในภาคเหนือ มีนักศึกษาเข้าร่วม 1,500 คน ถัดจากนี้ไป กระทรวงพาณิชย์จะสร้างซีอีโอเจนซีให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยทำกับทุกภาค ทุกสถาบันการศึกษา ตั้งเป้าเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 คน รวมแล้ว 12,000 คน เพื่อให้ซีอีโอเจนซีเป็นทัพหน้าให้กับการค้าและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศและทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนต่อไป”
นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้โลกเปลี่ยน และเปลี่ยนหลายตลบ วันข้างหน้าอาจจะมีอะไรเปลี่ยนไปอีก อย่างน้อยที่สุดปัจจัยสำคัญที่เราเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยน คือ 1. สถานการณ์โควิด-19 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว 3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และ 4. มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ หากเข้าใจ ก็จะเตรียมการรับมือได้ โดยจะต้องรู้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์ไหนของโลก เมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับตัว หัวใจสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยต้องทำ 2 ข้อ คือ 1. ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาคผลิตภัณฑ์หรือภาคบริการ โดยใช้ “ตลาดนำการผลิต” เพราะนี่คือหัวใจสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัว 2. ปรับรูปแบบทางการค้าจากรูปแบบออฟไลน์ดั้งเดิม เป็นการค้าออนไลน์ ทั้งออนไลน์ในประเทศและออนไลน์ระหว่างประเทศ
“วันนี้จะทำการค้าแบบดั้งเดิม ขายในตลาดนัด ขายในห้างฯ หรือจะหิ้วกระเป๋า นำเอกสารจะข้ามน้ำข้ามแผ่นดินไปขายไม่ได้แล้ว อยากจะไปขายจีน ไปแล้วเขาไม่ให้เข้า หรือเข้าได้ กลับมาต้องกักตัว 14 วัน มีปัญหาอุปสรรค เพราะโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตาม การค้าออนไลน์จึงเป็นคำตอบในยุคปัจจุบันต้องเร่งปรับปรุง ต้องเร่งพัฒนา จึงเป็นที่มาของโครงการผลักดันเจนซีเป็นซีอีโอ ที่ได้นำผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์มาช่วยสอน มาช่วยวิเคราะห์ทิศทางการค้า ช่วยโอกาสในการเข้าสู่ตลาด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นซีอีโอ” นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ เช่น ฟังประสบการจริงจากผู้ส่งออก การวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ การทำแบรนด์ การทำตลาด ต้องทำยังไง การเจาะลึกบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น อาลีบาบา หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง Tmall, amazon, bigbasket.com, jatujakmall, Thailandpostmart.com และ Cloudmall เป็นต้น โดยจะลงลึกไปดูว่าเขามีระบบการบริหารจัดการยังไง เพื่อที่จะตามเหตุการณ์ได้ทัน รวมไปถึงระบบการขนส่งโลจิสติกส์ในรูปแบบต่างๆ จะส่งวิธีไหน ส่งยังไง หรือขายไปต่างประเทศจะส่งยังไง และสอนถึงวิธีการโพสต์ขายสินค้า การทำโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะต้องเรียน เพราะถ้าไม่โดดเด่น โอกาสขายก็จะน้อยลง
ปัจจุบันเจนซีทั้งประเทศมีประมาณ 12.6 ล้านคน เป็นเด็กต่างจังหวัด 10.6 ล้านคน คิดเป็น 85% กระทรวงพาณิชย์จึงได้มุ่งทำโครงการโดยลงลึกถึงระดับจังหวัดให้มากขึ้น เพื่อช่วยเด็กในต่างจังหวัดให้มีโอกาสเป็นซีอีโอ โดยโครงการที่เริ่มในภาคเหนือ ได้ทำร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


กำลังโหลดความคิดเห็น