กองคลัง กทม. จี้ ผอ.เขตฯ เก็บภาษีป้าย “ร้านกาแฟแบรนด์ดัง” ใช้เป็นบรรทัดฐาน ยกคำพิพากษาเคสภาษีป้ายค่ายรถชื่อดัง ชี้ “ป้ายเครื่องหมายการค้า-คำขวัญแบรนด์-วอลเปเปอร์ติดผนัง” รูปนกแก้ว ตัวอักษรไทย-ต่างประเทศ ที่ร้าน อ้างตกแต่งร้านให้สวยงาม มิได้โฆษณา ถือเป็นไปตามนิยามกฎหมายเพื่อหารายได้ แถมเป็นป้ายเดียวกัน ไม่อาจแยกการคำนวณภาษีป้ายออกจากกันได้
วันนี้ (20 ส.ค.) มีรายงานจากศาล่าว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักการคลัง กทม. ทำหนังสือตอบข้อหารือการจัดเก็บภาษีป้าย “ร้านกาแฟชื่อดัง แบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ถึงผู้อำนวยการเขตสาทร ภายหลังได้ทำหนังสือขอหารือถึงกรณีการจัดเก็บภาษีป้ายดังกล่าว โดยป้ายแรก พบว่า เป็นแบบวอลเปเปอร์ติดผนัง มีรูปนกแก้ว และตัวอักษรภาษาต่างประเทศ ซึ่งทางผู้ประกอบการอ้างว่า “ทำขึ้นเพื่อเป็นการตกแต่งร้านให้สวยงาม มิได้ใช้ในการโฆษณา” โดยสำนักงานเขตสามารถจัดเก็บภาษีป้ายดังกล่าวได้หรือไม่
ขณะที่ ป้ายที่ 2 ซึ่ง เป็นป้ายเครื่องหมายการค้า ภาพนกแก้ว และ เมนูรายการอาหารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มุมบนด้านขวาสุดของป้ายมีภาษาไทย คำว่า คาเฟ่ อเมซอน ด้านหลังป้าย “เป็นที่เก็บของ” ป้ายดังกล่าวสามารถแบ่งการประเมินออกเป็นส่วนๆ ตามขนาดของผู้ และวัดพื้นที่ตรงที่มีรูปภาพและตัวอักษรในการคำนวณภาษีได้หรือไม่
โดย สำนักการคลัง กทม. ชี้แจงว่า กรณีป้ายที่ 1 เป็นป้ายแบบวอลเปเปอร์ติดผนัง มีรูปนกแก้ว และมีอักษรต่างประเทศว่า “TASTE of NATURE” นั้น สำหรับรูปนกแก้ว จะปรากฏในเครื่องหมายการค้า Cafe Amazon รูปนกแก้วจึงเป็น สิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมายเพื่อจดจำหรือกำหนดให้รู้ว่า เป็นร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน โดยเข้าลักษณะเป็นเครื่องหมายตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 165/2517
ส่วนข้อความ “TASTE of NATURE” นั้น ปรากฏในเว็บไซต์ www.cafe-amazon.com ว่า เป็นสโลแกนของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน จึงเป็นคำขวัญหรือข้อความจำง่าย ใช้เป็นคำโฆษณาหรือเป็นคำจำกัดความของสินค้า ดังนั้น ป้ายดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ เป็นป้ายตามนิยาม คำว่า “ป้าย” ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ที่จะต้องเสียภาษีป้าย
สำหรับการคิดคำนวณพื้นที่ป้ายนั้น ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0307/3759 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2536 และหนังสือกองคลังส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ด่วนมาก ที่ มท 0307/7445 ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2536 ตอบข้อหารือการจัดเก็บภาษีป้ายไว้ว่า ถ้าเจ้าของป้ายได้นำเอาเฉพาะตัวอักษรและเครื่องหมายมาปิดทับฝาผนังอาคารเดิม คิดคำนวณพื้นที่ป้ายเป็นป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้
“แต่ถ้าเป็นป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่แผ่นป้ายที่เจ้าของป้ายทำขึ้นใหม่ แล้วนำแผ่นป้ายนั้นไปปิดทับฝาผนังอาคารเติม "เพื่อความสวยงามและมองเห็นเด่นชัด ถือว่า แผ่นป้ายที่เจ้าของป้ายทำขึ้นใหม่นั้น ทำขึ้นเพี่อเป็นป้ายโฆษณา แม้จะมีตัวอักษรหรือเครื่องหมายไม่เต็มพื้นที่แผ่นป้ายนั้นก็ตาม” ดังนั้น ป้ายตามที่ขอหารือ จึงเป็นป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ตามขนาดของวอลเปเปอร์
ส่วนกรณี ป้ายที่ 2 เป็นป้ายเครื่องหมายการค้า ภาพนกแก้ว และเมนูรายการอาหารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มุมบนด้านขวาสุดของป้ายมีภาษาไทย คำว่า “คาเฟ่ อเมซอน” นั้น ติดไว้ที่บานเปิดปิดของตู้ติดผนังเรียงติดกัน เป็นป้ายที่ทำขึ้นใหม่แล้วนำไปปิดทับบานเปิดปิดของตู้ติดผนัง แม้จะมีตัวอักษรหรือเครื่องหมายไม่เต็มพื้นที่และติดตามบานเปิดปิดของแต่ละตู้ก็ตาม แต่เป็นภาพที่ต่อเนื่องสวยงาม เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาการค้า จึงถือว่าเป็นป้ายเดียวกัน ไม่อาจแยกการคำนวณภาษีป้ายออกจากกันได้
โดยข้อหารือดังกล่าว สำนักการคลัง กทม. ได้ยกความเห็นในแนวทางดังกล่าว แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ตรงกับ ได้แก่ คำพิพากษาฎีกาที่ 18437/2545 กรณีบริษัทผู้จำหน่ายรถชื่อดัง เป็นโจทก์ กับเทศบาลตำบลโพธิ์ชัย จ.หนองคาย เป็นจำเลย
ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัย โดยสรุปว่า ป้ายลักษณะรูปตัว “อักษรภาษาอังกฤษ" ส่วนบนมีอักษรไทย-ต่างประเทศ และมีลัญลักษณ์ ส่วนล่างมีอักษรไทย ย้ำถึง “แผนกขาย ศูนย์บริการ แผนกอะไหล่ และศูนย์ย์บริการตัวถังและสี” อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบประเภทอลูมิเนียม แม้ส่วนบนและส่วนล่างข้อความ จะอยู่บนวัสดุปิดผิวที่ต่างระดับกันและมีขนาดต่างกัน แต่ข้อความทั้งส่วนบนและส่วนล่างต่างก็อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบ ซึ่งเป็นอะลูมิเนียมและสีเดียวกันและอยู่บนโครงสร้างที่โด้ทำในคราวเดียวกัน
ทั้งในส่วนข้อความ หรือสัญลักษณ์ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ก็ล้วนเป็นข้อความและสัญลักษณ์ แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใข้ในการประกอบการค้าของโจทก์
“ทำให้ป้ายส่วนบนและส่วนล่างมีสักษณะเป็นป้ายที่มีความต่อเนื่องกับอย่างไม่อาจแยกออกจากกับได้ แม้ข้อความหรือสัญลักษณ์จะติดไม่เต็มวัสดุปิดผิวก็เพื่อความสวยงามและอ่านข้อความง่าย ในโครงสร้างชิ้นเดียวกันทุกข้อความในโครงสร้างนั้นเพี่อประโยชน์ ในการโฆษณาการค้าของโจทก์ จึงถือว่าเป็นป้ายเดียวกันไม่อาจแยกการคำนวณภาษีป้ายออกจากกับได้”