xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้อง “MGR Online” เสนอข่าว “ส่วยป้ายแอลอีดี”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ป้ายโฆษณาแอลอีดี(แฟ้มภาพ)
ศาลฎีกาพิพากษากลับยกฟ้อง คดีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตผู้ดูแลเว็บไซต์ MGR Online ฐานผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีข่าวนักธุรกิจเสนอเงิน 4 ล้านบาทแก่ “ศรีวราห์” ขณะเป็นรักษาการ ผบช.น. แลกสัมปทานป้ายโฆษณาแอลอีดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุขาดเจตนาพิเศษตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่

วันนี้ (20 ส.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขคดีดำที่ อ.371/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.429/2560 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายนิรันดร์ เยาวภาว์ อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์ MGR Online จำเลย

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2557 จำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ มีข้อความหัวข้อว่า ข้อมูลชัด 10 ล้าน/เดือน ส่วยป้ายโฆษณาใน บช.น. “ศรีวราห์” สั่งลุยฐานทุจริต และมีข้อความว่า “ “ศรีวราห์” บอมบ์นาปาล์ม ระบุอดีต ผบช.น.2 นายร่วมรู้เห็น เผยความแตกเพราะได้เวลาจ่าย “หน้าเสื่อ” บริษัทโฆษณาสื่อข้างถนนใน บช.น. หอบเงินสดมาประเคนถึงห้องทำงานแต่พอสอบสาวราวเรื่องกลายเป็นเงินทุจริตถูกไล่ส่ง แถมด้วยขุดคุ้ย เตรียมปัดกวาดวงการตำรวจให้สะอาดเอี่ยม ขณะที่ตำรวจระดับ ผกก.โอดเจ้านายเล่นกันเองแต่ลูกน้องต้องเดือดร้อน เตรียมแฉโพยพูดความจริงทั้งหมด ก่อนเสนอรื้อป้ายเจ้าปัญหาเป็นอันดับแรก” และมีข้อความว่า “รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นได้มีตัวแทนบริษัทสื่อโฆษณาข้างถนนนำเงินสด จำนวน 4 ล้านบาท ขึ้นไปมอบให้แก่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.น.ถึงห้องทำงาน เมื่อสอบถามถึงความเป็นมาจึงทราบจากบุคคลดังกล่าวว่าเป็นค่าโฆษณาจอแอลอีดีที่ติดตั้งทั่ว กทม. และก่อนหน้าก็เคยจ่ายเงินสดในลักษณะนี้แก่อดีต ผบช.น.มาแล้ว 2 คน เมื่อทราบดังนั้น รรท.ผบช.น.จึงคืนเงินกลับไปพร้อมอธิบายว่า ทั้งบริษัทฯ กับตำรวจที่ร่วมรับผลประโยชน์กันกำลังทำผิดกฎหมาย ต่อจากนี้ไม่ต้องนำเงินมาให้แก่ใครอีก และจะต้องปฏิบัติให้ถูกกฎระเบียบของราชการจนเป็นเรื่องตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว” อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่เคยมีตัวแทนบริษัทสื่อโฆษณานำเงินสดจำนวน 4 ล้านบาท มามอบให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล (ยศขณะนั้น) ผู้เสียหาย โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชน ขอให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และ 14

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 ใจความสำคัญบางส่วนระบุว่า พิเคราะห์พยานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า โจทก์มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยศ พล.ต.ท.ในขณะเกิดเหตุ และเป็นผู้มีชื่อปรากฏอยู่ในข่าวมาเบิกความเป็นพยาน ฟังได้ว่า ไม่เคยมีใครนําเงินค่าส่วยป้ายโฆษณามาให้พยาน เมื่อตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วไม่มีปรากฏว่ามีใครนําเงินในลักษณะเดียวกันไปให้แก่อดีตผู้บัญชาการตํารวจนครบาล 2 นาย ก่อนหน้าที่พยานจะมารับตําแหน่ง ข่าวที่ลงจึงไม่เป็นความจริง ทําให้พยานและสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย จึงสั่งการให้ผู้บังคับการอํานวยการไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

เห็นว่า โจทก์ได้นํา พล.ต.อ.ศรีวราห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวอ้างในข่าวมาเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยมีใครนำเงินค่าส่วยป้ายโฆษณามาให้ ทั้งให้การรับรองเรื่องนี้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานในคดีให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าข่าวที่ลงในเว็บไซต์นั้นเป็นความเท็จ อาจทําให้ประชาชนผู้อ่านข้อความข่าวซึ่งเป็นสื่อสาธารณะเข้าใจว่ามีผู้นําเงินค่าส่วยป้ายโฆษณามาให้แก่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ หรือเคยมีอดีตผู้บัญชาการตํารวจนครบาล 2 นายก่อนหน้าที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์มารับตําแหน่งได้รับเงินค่าส่วยป้ายโฆษณา หรือสํานักงานตํารวจแห่งชาติปล่อยปละละเลยให้มีการรับเงินช่วยค่าป้ายโฆษณาอันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อ พล.ต.อ.ศรีวราห์ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และผู้ที่ถูกกล่าวอ้างถึง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้นําข้อความข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่ตนดูแลอันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ผู้อื่นที่ถูกกล่าวอ้างในข่าว และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ อันเป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) ให้จําคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนด 1 ปี

จำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ใจความสำคัญบางส่วนสรุปว่า โจทก์มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เบิกความและได้ความจากจําเลยว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลงข้อความในเว็บไซต์ตามที่ปรากฏในคําฟ้องและได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า ข่าวดังกล่าวระบุว่าผู้เสียหายไม่ได้รับสินบน ผู้เสียหายจึงไม่ได้รับความเสียหาย แต่กลับจะได้รับการชื่นชมจากประชาชน เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายซึ่งถูกลงข่าวว่ามีตัวแทนบริษัทสื่อโฆษณาข้างถนนนําเงินสด 4,000,000 บาท มามอบให้เป็นพยาน เบิกความยืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่เคยมีใครนําเงินมาให้ตามข่าว ข้อความของข่าวทําให้พยาน และสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย แม้ว่าข้อความในข่าวระบุว่าพยานไม่ได้รับเงินดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่อาจนํามาอ้างว่าพยานไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากพยานเป็นข้าราชการตํารวจระดับสูง มีหน้าที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทําความผิดให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน มิฉะนั้นอาจถูกกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ กรณีเป็นการลงข่าวโดยมีเจตนาบิดเบือนหลอกลวงด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ทําให้ผู้อ่านข่าวหลงเชื่อ อุทธรณ์ของจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 14 (1) เดิมกับ มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ยังคงมีระวางโทษเท่ากัน กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงให้ใช้บังคับตามกฎหมายเดิม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 พิพากษายืน

จำเลยยื่นฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่ามาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการแก้ไขนั้นมีบทบัญญัติที่เป็นคุณต่อจำเลย ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 20 ส.ค. 63 สรุปว่า คดีมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติขึ้นใหม่เป็นคุณแก่จำเลยให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ เห็นว่า ในระยะเวลาการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิก มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน

โดยมาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากความผิดที่ว่า (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่ว่า (1) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือต้องมีเจตนาพิเศษ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติเป็นว่าจำเลยเป็นผู้ทำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริต แม้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (เดิม) แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา (14) แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำผิดของจำเลยเช่นนั้นไม่เป็นความผิด จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 วรรค 2

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นยกฟ้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น