สสว.เปิดผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงานภายหลังวิกฤตโควิด-19 ระบุเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 78.9% อยากให้รัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยมากสุด
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ทำการสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงานภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในช่วงวันที่ 20-27 มิถุนายน 2563 จากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,582 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น ภาคการผลิต 618 ราย ภาคการค้า 912 ราย และภาคการบริการ 1,052 ราย ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค โดยคำถามภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการ SME มองว่า มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยควรขยายระยะเวลาในการช่วยเหลือหรือไม่ พบว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มองว่าควรขยายระยะเวลามาตรการต่อไป คิดเป็น 78.9% และผู้ประกอบการ SME ที่มองว่ายังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ คิดเป็น 21.1%
โดยประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมองว่าควรขยายระยะเวลามากที่สุด พบว่าประเภทเงินกู้สินเชื่อธุรกิจ คิดเป็น 39.8% รองลงมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล 23.6% สินเชื่อรถยนต์ คิดเป็น 11.1% สินเชื่อบ้าน 8.7% วงเงินกู้ประจำ คิดเป็น 7.4% สินเชื่อบัตรเครดิต 6.1% ขณะที่ประเด็นมาตรการช่วยเหลือการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการแบบใดที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจมากที่สุด คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คิดเป็น 59.6% รองลงมาคือ การกู้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดเป็น 31.2% วงเงินกู้ประจำ คิดเป็น 4.3% และการเบิกเงินเกินบัญชี คิดเป็น 3.9%
“ผลสำรวจพบว่าธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกู้ยืม จำนวน 1,434 ราย คิดเป็น 55.5% และธุรกิจ SME ที่มีการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,148 ราย คิดเป็น 44.5% ซึ่งแหล่งกู้ยืมเงินของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน คิดเป็น 87.8% และกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน 12.2%” นายวีระพงศ์กล่าว
ในส่วนของสถานการณ์การจ้างงานหลังโควิด-19 จากการสำรวจผู้ประกอบการทั้งหมด 2,582 ราย พบว่ากิจการมีจำนวนแรงงานเฉลี่ยทั้งหมด 8 คน (รวมสมาชิกในครอบครัวและเจ้าของธุรกิจ) โดยแบ่งเป็นแรงงานเฉลี่ยที่เป็นสมาชิกในครอบครัว 2 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน และลูกจ้างรายวัน 2 คน โดยค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็น 27.5% โดยในส่วนของกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี มีแรงงานเฉลี่ย 4 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็น 27.1% กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก มีแรงงานเฉลี่ย 12 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็น 28.3% และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง มีแรงงานเฉลี่ย 119 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็น 24.3%
ด้านประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานหลังโควิด-19 สำรวจข้อมูลจากคำถามปลายเปิด และนำมาวิเคราะห์เฉพาะกิจการที่มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวันเท่านั้น พบว่า จำนวนแรงงาน และค่าจ้างแรงงาน กิจการส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คิดเป็น 84.6% และ 86.1% ตามลำดับ รองลงมาคือ มีการปรับลดจำนวนและค่าจ้างแรงงานลง คิดเป็น 12% และ 11.2% ตามลำดับ ในส่วนโบนัส และค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางกิจการส่วนใหญ่ไม่มีให้อยู่แล้ว
“จากการที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ถึง 84.6% ตอบว่าจะไม่ลดแรงงานและลดค่าจ้างหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ลดความกังวลใจต่อปัญหาการว่างงานลงได้มาก เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มสำคัญในการจ้างแรงงานของประเทศที่มีจำนวนการจ้างงานเกือบ 14 ล้านคน” นายวีระพงศ์กล่าว