xs
xsm
sm
md
lg

เลิกสัมปทานที่จอดรถ “ดอนเมือง” ทอท.สบช่องซุกปม “ล็อกสเปก”-ผู้บริหารลอยตัว-ไอ้โม่งลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ได้มีมติอนุมัติบอกเลิกสัญญาบริษัท เอ็มพีเม็ก จำกัด ในการอนุญาตให้ประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการอาคารจอดรถยนต์ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารจอดรถ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนและตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาได้ หลังเวลาล่วงเลยมาถึง 3 ปี ... งานนี้น่าจะยืนยันได้ว่า ข้อร้องเรียน โครงการนี้ล็อกประมูล เอื้อบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์ให้ได้รับงาน มีไอ้โม่งจัดการผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังการประมูลนี้เป็นจริง!!!

โดยมติบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 63 อนุมัติบอกเลิกสัญญา บ.เอ็มพีเม็กฯ ตามสัญญาเลขที่ ทดม.TS.1-01/2560 ลงวันที่ 18 ส.ค. 60 และสัญญาเช่าพื้นที่ ณ ทดม.สัญญาเลขที่ ทดม.TS.8-01/2560 ลงวันที่ 18 ส.ค. 60 และให้ฝ่ายบริหาร ทอท.รับข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะของบอร์ดทอท. ได้แก่

1. ตรวจสอบการปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญาของบริษัทฯ และข้อสัญญาที่จะใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาให้ชัดเจนและถูกต้องเพื่อป้องกันมิให้มีข้อโต้แย้งในภายหลัง และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วให้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทฯ รับผิดชบอความเสียหายต่างๆ ที่ ทอท.ได้รับให้ครบถ้วน

2. พิจารณาแนวทางที่ ทอท.จะดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการอาคารจอดรถยนต์ ณ สนามบินดอนเมือง ต่อไปภายหลังจากบอกเลิกสัญญาให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดสามารถรองรับความต้องการและแก้ไขปัญหาจราจรภายในสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

3. พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์คัดเลือกให้สิทธิประกอบการโครงการฯ ในอนาคต โดยควรพิจารณาจากข้อเสนอด้านเทคนิค เช่น แผนการดำเนินงาน ประสบการณ์ที่ผ่านมา แหล่งเงินทุนดำเนินโครงการ เป็นต้น ประกอบกับข้อเสนอด้านราคา เพื่อให้ ทอท.สามารถคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการดำเนินโครงการให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อ ทอท.

@บอร์ด ทอท.อนุมัติ เมินร้องเรียนประมูลไม่โปร่งใส

จากที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้มีการติดตามการดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่แรก พบว่า ในวันที่ ทอท.เปิดประมูลโครงการอาคารจอดรถมีการร้องเรียนมากมาย ทั้งเรื่องเงื่อนไขทีโออาร์ คุณสมบัติ วิธีการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส รวมไปถึงความไม่ชอบมาพากลในการให้คะแนน แต่บอร์ดทอท.ที่มี “ประสงค์ พูนธเนศ” เป็นประธาน!!! ยังยืนกราน รับรองผลการประมูลว่ามีความโปร่งใสทุกประการ และอนุมัติให้เซ็นสัญญากับบริษัท เอ็มพีแม็กฯ

ซึ่งประเด็นที่มีการร้องเรียน เรื่อง ทีโออาร์ล็อกสเปก, คุณสมบัติบริษัทที่ชนะประมูลไม่ถูกต้อง เนื่องจาก เคยถูกยกเลิกสัมปทานที่จอดรถบาลีฮาย กรณีค้างชำระค่าเช่าให้เมืองพัทยาและมีปัญหาโครงการอาคารจอดรถอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยในเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกของ ทอท.ที่ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย เนื่องจากบริษัทที่เข้าร่วมประมูลมีคะแนนเท่ากัน 2 ราย คือ 70 คะแนน แต่แทนที่จะเปิดซองผลตอบแทนที่มีการเสนอมาตั้งแรกเพื่อตัดสิน

แต่ ทอท.กลับให้ 2 รายที่คะแนนเทคนิคเท่ากันเขียนราคาผลตอบแทนใหม่ ...อ้างเป็นวิธีการคัดเลือกที่ทำให้ ทอท.ได้ผลตอบแทนเพิ่ม

ซึ่งก็เป็นตามนั้น เพราะเมื่อใส่ราคากันใหม่ ปรากฆว่า บ.เอ็มพีเม็กเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ทอท.สูงสุดที่ 2,233,669 บาทต่อเดือน ส่วนอีกรายเสนอราคา 1,567,000 บาทต่อเดือน

ทว่า!!! วันนี้ ผลประโยชน์ที่ว่าจะได้เพิ่ม ทอท.กลับยังไม่ได้เลยสักบาท เพราะบริษัทฯ ที่ชนะประมูลไม่มีศักยภาพจริงตามที่ ทอท.การันตี ผลักดันให้ได้รับสัมปทาน

@“นิตินัย” การันตีคุณสมบัติ “เอ็มพีเม็ก” เมินทิ้งงานที่อื่น ...ชี้ไม่เคยมีเรื่องฟ้องร้องกับ ทอท.เป็นอันใช้ได้

ซึ่งเรื่องคุณสมบัติกรณีบริษัทฯ เคยทิ้งงานนั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ชี้แจงว่า

“ในข้อกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นเสนอราคา คือต้องไม่เป็นผู้ถูก ทอท.บอกเลิกสัญญา หรือมีหนี้สินค้างชำระกับ ทอท. หรือต้องไม่เป็นผู้ที่มีข้อพิพาทในประเด็นของสัญญาหรือกฎหมายกับ ทอท.”

โดย ทอท.ได้ตรวจสอบแล้ว บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามทีโออาร์ นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังแล้ว ไม่ปรากฏว่าบริษัท เอ็มพีเม็ก มีชื่อเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด

จึงมีการเซ็นสัญญาสัมปทานก่อสร้างและบริหารอาคารที่จอดรถยนต์ 10 ชั้น ทางด้านเหนือของสนามบินดอนเมือง เป็นระยะเวลา 15 ปี (สิ้นสุด วันที่ 29 กันยายน 2575)

โดยหลังจากลงนามสัญญา บริษัทฯ จะต้องเสนอแผนงานออกแบบ และใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี ซึ่งกำหนดเริ่ม 1 ม.ค. 2561 ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ ก่อสร้าง ติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติระบบซอฟต์แวร์แล้วเสร็จในปลายปี 2561

แต่ปรากฏว่าผ่าน 1 ปีแรกไม่มีการก่อสร้างใดๆ

จากข้อมูลพบว่า ช่วงต้นปี 2561 ผู้อำนวยการสนามบินดอนเมืองในขณะนั้น (น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์) ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวติดปัญหา สำนักงานของทางสายการบินแอร์เอเชียยังไม่ย้ายออก แอร์เอเชียยังไม่ส่งคืนพื้นที่ให้ ทอท.จึงยังเข้าไปทุบอาคารและส่งมอบพื้นที่ให้ทางเอ็มพีเม็กเข้าก่อสร้างไม่ได้

ต่อมาเดือน ต.ค. 2561 พบว่ามีการทุบอาคารดังกล่าวและมีการกันพื้นที่ล้อมรั้วบริเวณก่อสร้าง และมีการนำอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปไว้ด้านใน

แต่นับจาก ต.ค. 2561 เป็นต้นมาการก่อสร้างก็ยังไม่คืบหน้า พบเพียงการปรับพื้นที่ เจาะเสาเข็มไม่กี่ต้นเท่านั้น

ซึ่ง “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทอท.จะต้องทำเรื่องขออนุญาตการก่อสร้างจากกองทัพอากาศ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อีก

หมายความว่า ที่ล่าช้า ก่อสร้างยังไม่ได้เสียที เพราะ ทอท.เองที่ยังไม่พร้อม...งานนี้เอกชนได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารกว่า 40 ล้านคน/ปี หากรวมกับเจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการอื่นๆ และญาติที่มารับ-มาส่งผู้โดยสาร เรียกว่ามีผู้ใช้สนามบินจำนวนมหาศาล แต่มีที่จอดรถบริการที่อาคาร 7 ชั้นเท่านั้น จึงไม่ต้องบรรยายสภาพความแออัด คับคั่งของที่จอดรถ ผู้ใช้บริการต้องพบกับเหตุรถถูกเฉี่ยวชนเพราะพื้นที่แออัดอย่างมาก

“แต่ก็ต้องอดทนใช้..เพราะจำเป็น”

@ส่อทุจริต! ป.ป.ช.เรียกชี้แจง..ทอท.ปิดข่าวเงียบ

ข้อร้องเรียนความไม่โปร่งใสส่งถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงมีหนังสือถึง “นิตินัย ศิริสมรรถการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน และขอเชิญพนักงานไปให้ถ้อยคำ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาพนักงานของทอท.กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีงานประมูลการก่อสร้างอาคารลานจอดรถในสนามบินดอนเมือง

โดย ป.ป.ช.ขอให้ ทอท.ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

1. ทอท.เคยมีการประมูลก่อสร้างอาคารจอดรถในสนามบินดอนเมืองหรือไม่ หากมี เป็นการจัดหาโดยวิธีใด อยู่ในอำนาจการอนุมัติของบุคคลใด และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับใด โดยให้ทอท.ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการขั้นตอนการดำเนินการจนได้คู่สัญญา

2. เอกสารคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตและข้อกำหนดของงาน (TOR) คณะกรรมการประกวดราคา คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตรวจรับ และคณะกรรมการชุดอื่นที่เกี่ยวข้อง

3. เอกสารสำเนาประวัติการทำงานและคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งของ นายวิชัย บุญยู้ (ปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ทอท.) และนายอัษฎางค์ ขำคมกุล พร้อมอำนาจหน้าที่ในช่วงที่มีการประมูลโครงการฯ และกรณีพ้นจากการเป็นพนักงานแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยให้ ทอท.จัดส่งเอกสารและไปให้ถ้อยคำต่อหัวหน้าพนักงานไต่สวนที่สำนักงานป.ป.ช. ในวันที่ 20 ส.ค. 2562

ซึ่งยังไม่มีผลการตรวจสอบเรื่องนี้ออกมาแต่อย่างใด

@ยืดเยื้อ 3 ปี “ปรับแผน-เรียกค่าปรับ”

รายงานข่าวจาก ทอท.ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้เห็นว่าจะมีการก่อสร้าง โดยมีการตอกเสาเข็มไปเพียงเล็กน้อย

ซึ่งคณะทำงานติดตามโครงการได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถสนามบินดอนเมือง ซึ่งพบว่าบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญา มีปัญหาด้านแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกัน ได้เรียกค่าปรับจากบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นมา

และจากการตรวจสอบของคณะทำงานฯ ทอท.ยังพบว่าบริษัทฯ ไม่มีศักยภาพในการก่อสร้าง ไม่มีความพร้อมใดๆ ในการทำงานให้เป็นไปตามแผนที่ได้เสนอไว้ ทั้งด้านการเงิน การจัดหาแรงงาน จัดหาอุปกรณ์ แลเครื่องจักรเข้ามาปฏิบัติงาน และมีการขอเลื่อนมาตลอด

ซึ่งเมื่อ 15 ม.ค. 2563 พบว่าบริษัทฯ ได้หยุดการทำงาน และได้ขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรทั้งหมดออกจากพื้นที่ก่อสร้างไปแล้ว

ทั้งนี้ ตามหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัท เอ็มพี เม็ก โดยให้สัญญามีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ก.ค. 2563 โดยให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการทันที พร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เช่าให้เรียบร้อยภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่การบอกเลิกสัญญามีผล

@ดิ้นรนสารพัด “ขายต่อสัญญา” แต่นายทุนเมิน

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามีความพยายามจะขายต่อโครงการ รวมทั้งการหาผู้ร่วมทุนใหม่ และเจรจาต่อรองกับ ทอท.ขอแก้สัญญา แต่เงื่อนไขไม่ลงตัว อีกทั้งไม่มีนายทุนกล้าเสี่ยง

ต้องยอมรับว่าทุกตารางนิ้วของสนามบินมีผลประโยชน์มหาศาล จึงมีนายทุน ผู้มีอิทธิพล เข้าไปจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกับผู้มีอำนาจ และอาคารจอดรถก็เป็นอีกธุรกิจที่มีผลประโยชน์สูง

หากยังจำกันได้ กรณีสัมปทานอาคารจอดรถที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เกิดกรณีชายฉกรรจ์ชุดดำบุกเข้าปิดล้อมทางเข้า-ออกยึดลานจอดรถ จนทำให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวแตกตื่นมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน สร้างความอับอาย และเสียหายอย่างมาก ซึ่ง ทอท.ควรยึดเป็นบทเรียนของ ทอท.

และแม้บอร์ด ทอท.จะมีมติให้เลิกสัญญาสัมปทานโครงการที่จอดรถสนามบินดอนเมืองไปแล้ว แต่จากข้อมูลพบว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ เพราะมีอีกหลายประเด็นที่ส่อยืดเยื้อ และอาจถึงการฟ้องร้องกัน

เช่น มีประเด็นผู้รับเหมารายย่อยที่เอ็มพีเม็กฯ จ้างเข้ามาตอกเสาเข็มเป็นเงินราว 70 ล้านบาท ซึ่งผู้รับเหมาช่วงยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และได้มีการทำหนังสือแจ้งมาที่ ทอท. แต่ ทอท.ตอบว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนด้วยกัน

ขณะที่แนวทางการดำเนินงานอาคารจอดรถสนามบินดอนเมืองหลังจากนี้ หาก ทอท.เลือกจะทำเอง หรือเปิดประมูลใหม่โดยไม่ใช้แนวทางการเรียกผู้ประมูลที่ได้รับคะแนนเป็นลำดับที่ 2 มาเจรจาอาจจะถูกผู้ร่วมประมูลฯ ครั้งที่ผ่านมาฟ้องร้องหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ร่วมประมูลได้เคยร้องเรียนต่อ ทอท.แล้วว่า รายที่ ทอท.เลือกเป็นผู้ชนะคุณสมบัติมีปัญหา ถูกแบล็กลิสต์ และสุดท้ายก็ไม่มีศักยภาพจริงๆ

ส่วนกรณีค่าปรับนั้น เอ็มพีเม็กฯ คงไม่ยอมจ่ายง่ายๆ ว่ากันว่าบริษัทฯ เองก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเพื่อเป็นค่าเปิดทางให้ได้สัญญานี้ หากต้องจ่ายค่าปรับอีกคงจะมีรายการแฉเบื้องหลังกันเป็นแน่ ดังนั้น คาดว่า... เป็นไปได้สูงที่สุดท้ายจะจบแบบ ไร้คนผิด 

แต่ความเป็นจริง! โครงการล้มเหลว... ทอท.ได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้อย่างน้อย 26.7 ล้านบาท/ปี จากข้อเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ 2.23 ล้านบาท/เดือน และที่สำคัญ ผู้โดยสาร-ผู้ใช้บริการเดือดร้อนอย่างมาก

ซึ่งผู้บริหาร ทอท.ก็ใช้วิชาลอยตัว...ส่วนไอ้โม่งจอมเขมือบก็ลอยนวล...ไปตามระเบียบ!!!



นายประสงค์ พูนธเนศ  ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.






กำลังโหลดความคิดเห็น