“ทำอะไรจากจุดแข็งย่อมได้เปรียบ และภาคเกษตรนั้นไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปคนก็ยังต้องบริโภค สินค้าจึงต้องตอบโจทย์ในทุกยุคสมัย ผู้ผลิตต้องเข้าใจวงจรหรือหลักของสายพานลำเลียง และปรับสู่ธุรกิจที่สร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่ม” นายโชคชัย บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย กล่าวในฐานะซูเปอร์โค้ชที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมหลักสูตร Genius the Creation ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
เขาย้ำว่าความสำเร็จของฟาร์มโชคชัยจากภาระหนี้สินระดับ 100 ล้านบาทมาอยู่ในจุดปัจจุบันได้ผ่านอะไรมามากพอสมควรและต้องผ่านก้าวเล็กๆ ที่ต้องเดินก่อนเติบโต พร้อมแนะนำว่าอย่ามองโลกแบบกว้างใหญ่ด้วยการเปิด Google ดูเจ้าสัวคนนั้นคนนี้รวยแค่นั้น เพราะข้อเท็จจริงกว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่คุณไม่รู้ เฉกเช่นเดียวกับฟาร์มโชคชัยที่เราต้องลงมือทำไปและสังเกตไปเพื่อปรับให้ทุกอย่างดีขึ้นสอดรับกับความต้องการผู้บริโภค และไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด สร้างมูลค่าใหม่บนรากฐานเดิมโดยเฉพาะธุรกิจ Tour@ Farm Chokchai
นอกจากนี้ เขาได้ยกหนึ่งในหลักคิดสำคัญของฟาร์มโชคชัยคือ ทำอย่างไรให้คนอยู่กับสินค้าของเราด้วยประสบการณ์ ซึ่งหลักคิดนี้จะเหมาะมากต่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่ได้มีเงินทุนทุ่มโฆษณาซื้อตัวดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ โดยเขาชี้ให้เห็นว่าคนเรานั้นมักจะจำประสบการณ์ชีวิตจากสิ่งที่ดีสุด และสิ่งที่เลวร้ายสุด เมื่อชอบอะไรก็จะแสดงออกเช่นนั้น ดังนั้นฟาร์มโชคชัยจึงมองไปที่ไอศกรีมนมสดให้เป็นสินค้า Universal Product ภายใต้แบรนด์ อืมม! มิลค์ (Umm! Milk) ด้วยการให้คนมาเที่ยวฟาร์มโชคชัยสามารถมาทำไอศกรีมด้วยตนเอง เพื่อเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนจดจำ เป็นอีกจุดขายหนึ่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความใส่ใจทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตโดยเฉพาะความภูมิใจจากนมโคไทย 100%
“ ผลกระทบโควิด-19 เราเองก็ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะเราคงไม่สามารถเปิดรับการท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบเช่นที่ผานมา ดังนั้นเราจะปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ Knowledge Tourism เน้นเป็นแหล่งการให้ความรู้ จากฐานที่เราเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราคิดว่ายิ่งให้ก็จะยิ่งทำให้คนมาฟาร์มเรามากขึ้น การเปิดคงไม่เหมือนเดิม เราจะเปิดรับเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มองค์กร ธุรกิจ ที่ควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า และดูแลความปลอดภัยได้ทั่วถึง ซึ่งเราเองคิดว่าการจะกลับมาเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลาหรืออาจต้องรอวัคซีน” นายโชคกล่าว
สำหรับภาคเกษตรของไทยถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือรัฐบาลควรวางยุทธศาสตร์ให้ดี มองอย่างครบวงจร เช่น ปลูกแค่ไหน ขายใคร โดยเห็นว่าการปลูกที่เน้นเชิงปริมาณไม่ควรจะดำเนินการเพราะจะเห็นว่าฤดูผลไม้ทุกปีจะมีผลผลิตออกมามากเกินความต้องการ หรือบางฤดูไม่มีเลย ดังนั้นควรมองไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรที่หลายประเทศพัฒนา เช่น การผลิตองุ่นพวงละ 1,000 บาท หรือสินค้าเกษตรที่ทำให้คนมาต่อแถวซื้อ แบบนี้เป็นต้น
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า โครงการ Genius the Creation เป็นหลักสูตรพิเศษเพื่อการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับพรีเมียมที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเป็นต้นแบบการพัฒนา โดยดึงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Model) นำในการพัฒนาธุรกิจ ผสมผสานกับการใช้งาน (Functional Model) ซึ่งเป็นหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้หลักสูตร Genius Academy ที่ กสอ.ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง 3-4 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจใน 3 ด้าน อันได้แก่ 1. เศรษฐกิจฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น 2. เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น 3. เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน
“Genius The Creation จะเป็นหัวขบวนในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน ให้ธุรกิจเกษตรของไทยอยู่รอดและมีความยั่งยืน เปลี่ยนคำว่าเกษตรกรมาเป็นธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านโค้ชที่เป็นระดับ Genius จริงๆ ซึ่งเรามาที่โชคชัยฟาร์มเพราะเป็นผู้ที่มีหัวใจที่จะช่วยด้านเกษตรอุตสาหกรรมด้วย” นายณัฐพล
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการเปิดรับสมัครและคัดเหลือ 42 รายมาเรียนรู้การพัฒนากลยุทธ์เกษตรอุตสาหกรรมจากหนึ่งในซูเปอร์โค้ชของโครงการฯ คือ คุณโชค บูลกูล เจ้าของฟาร์มโชคชัย อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังมี โค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอด คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักวางวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับ และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมท์ ดีไซน์ จำกัด สุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลระดับโลกการันตีถึง 78 รางวัล ที่จะให้ความรู้ในหลักสูตรดังกล่าวด้วย
“หลังอบรมตามหลักสูตร 42 รายจะคัดให้เหลือ 10 ราย ที่โครงการจะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ฟรี และจะต่อยอดคัดเลือกให้เหลือ 4 กิจการสุดยอดให้เป็น Best of the Best เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโมเดลในการขยายผลไปยังเกษตรอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายณัฐพลกล่าว