xs
xsm
sm
md
lg

ระวังโรคระบาดทางจิต (Emotional Contagion) ในช่วงวิกฤตโควิด-19/ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease) จนเกิดเป็น “วิกฤตโควิด-19” ไม่เพียงแต่จะทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตรายวันในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในหลายพื้นที่เท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาและสังคมต้องพึงระวังคือ โรคระบาดทางจิต (Emotional Contagion)

วิกฤตโควิด-19 แม้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน แต่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต การรับมือโดยอาศัยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ห้ามออกจากที่พักในเวลาที่กำหนด (Curfew) และการปิดเมือง (Lockdown) ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง หลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต หลายอาชีพไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ตามปกติ ไม่มีใครตอบได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะคลี่คลายลงเมื่อไร

การรู้ไม่เท่าทันสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการติดโรค ข้อจำกัดและความยากลำบากในการใช้ชีวิต ขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น การพักงาน ขาดรายได้ ตลอดจนภาระการเงินที่รุมเร้า สะท้อนถึงการถูกลดทอนความสามารถในการดูแลจัดการชีวิตตัวเอง ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นตระหนก ที่มาพร้อมกับความรู้สึกหดหู่และเศร้าใจ ความกลัวและวิตกกังวลในจิตใจ เมื่อผลกระทบเกิดกับคนในวงกว้างก็ยิ่งส่งเสริมการแพร่กระจายอารมณ์ความรู้สึกทางลบนี้ให้ครอบคลุมอยู่ในบรรยากาศของสังคม ไม่ว่าจะหันไปทางไหนพบปะพูดคุยกับใคร ได้ยินได้ฟังสิ่งใดก็มีแต่ความมืดมน

โรคระบาดทางจิต (Emotional Contagion) จึงเป็นผลข้างเคียงจากสถานการณ์วิกฤตในเวลานี้ที่คนในสังคมจะต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกส่งต่อออกไปและช่วยกันดูแลสภาพจิตใจของกันและกันให้ดี เนื่องจากในภาวะวิกฤตอารมณ์ทางลบที่เต็มไปด้วยความกลัวและวิตกกังวลของผู้คนนั้นสามารถแพร่กระจายออกไปในวงกว้างได้ไม่ต่างจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เสมือนการติดเชื้อทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบและรับมาเป็นอารมณ์ของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เป็นการตอบสนองทางจิตใจตามสิ่งที่รับรู้มามากกว่าตามความเป็นจริง ซึ่งมีผลในการกำหนดพฤติกรรมการแสดงออกที่จะตามมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงเริ่มวิกฤตโควิด-19 คือ การส่งผ่านอารมณ์การรับรู้ที่น่ากลัวของโรคทำให้เกิดการแพร่กระจายความรู้สึกกลัวและรังเกียจผู้ติดเชื้อ ทำให้หลายกรณีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือแสดงอาการใกล้เคียงพยายามปกปิดข้อมูลจนส่งผลเสียต่อการควบคุมโรค หรือการส่งต่อความกังวลและไม่มั่นใจในการควบคุมสถานการณ์ด้วยการปิดเมือง ทำให้มีการกักตุนสินค้าจำเป็นจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งผู้คนเกิดความแตกตื่นเร่งเดินทางออกนอกเมืองทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่กระจายโรคไปยังภูมิภาคต่างๆ เมื่อมีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจึงทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสังคมในวงกว้างแล้ว การรับเอาอารมณ์ทางลบจากช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทั้งโดยการพบปะพูดคุย สีหน้าแววตาและภาษากาย ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสารมวลชนหรือช่องทางโซเชียลมีเดีย ยังมีผลโดยตรงต่อสภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้รับโดยไม่รู้ตัว อารมณ์ทางลบจะไปกระตุ้นความวิตกกังวลและสะสมความเครียด ทำให้รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวได้ง่าย มีปัญหาในการตัดสินใจและควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ นอนไม่หลับหรือไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดทางจิตเข้ามาซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19การดูแลสภาวะทางอารมณ์และจิตใจให้มีความพร้อมต่อความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องอาศัย 5 วิธีการต่อไปนี้ในการรับมือ

1.มีสติรู้เท่าทัน – การลอกเลียนอารมณ์ที่เข้ามานั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ระวังปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงไหลไปในอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ตรงหน้าและรับมาเป็นของตัวเอง ดังนั้น การตั้งสติคือ การรู้ตัว รู้เท่าทันความเป็นไปและไม่ปล่อยใจให้อารมณ์เข้ามากระทบการรับรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกและเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

2.สร้างเกราะป้องกัน – การรับข้อมูลโดยไม่กลั่นกรองมักต้องประสบปัญหาในการจัดการแยกแยะความถูกต้อง ขณะที่การรับข้อมูลอย่างเหมาะสม ทั้งโดยการจัดสรรเวลาและปริมาณข้อมูลเลือกรับจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่นำเสนออารมณ์ทางลบ พร้อมกับสร้างมุมมองทางบวกให้กับตัวเองเสมอจะเป็นเกราะป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น

3.ดูแลใจตัวเอง – การดูแลสภาพจิตใจไม่ให้เป็นกังวล หดหู่และเศร้าใจในสภาวะวิกฤตนั้นทำได้โดยการใช้เวลาที่มีให้เกิดคุณค่ากับตัวเอง ทั้งการยอมรับและแก้ไขปัญหาเท่าที่จะทำได้ เรียนรู้และทำสิ่งใหม่ๆ รวมถึงหาวิธีการผ่อนคลายด้วยการทำสิ่งที่อยากทำ พักผ่อนหรือออกกำลังกาย ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลร่างกายและจิตใจแล้ว ยังทำให้เราสามารถจัดการกับชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้นอีกด้วย

4.รักษาความสัมพันธ์ – แม้ในช่วงเวลาที่อยู่ห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดยังคงมีความสำคัญที่จะช่วยทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและสร้างความอบอุ่นใจว่ายังมีใครที่คอยห่วงใยและพร้อมจะดูแลกันและกันเสมอผ่านการเชื่อมต่อกันโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย การรักษาความสัมพันธ์นี้เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการรับและส่งต่อสิ่งดีๆให้กับสังคม

5.ส่งต่อพลังทางบวก – นอกจากจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่นำอารมณ์ทางลบหรือความกลัวและวิตกกังวลเข้ามาแล้ว การตอบสนองด้วยสิ่งที่แตกต่างออกไปทั้งโดยการยิ้มรับและพร้อมจะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมถึงนำเสนออารมณ์ในทางบวกโดยการสื่อสารทั้งทางคำพูดและการกระทำผ่านช่องทางต่างๆจะทำให้ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นบรรยากาศที่ดีในสังคมให้กลับมาอีกครั้ง

ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 นำพามาซึ่งโรคภัยที่มาพร้อมกับโรคระบาดทางจิตที่บั่นทอนสภาพจิตใจคนในสังคมให้ท้อแท้ สิ้นหวังและหมดกำลังใจ สิ่งสำคัญคือ การสร้างและส่งต่อพลังทางบวกให้กันและกันจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ช่วยประคับประคองทุกคนให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น