บีโอไอแนะผู้ประกอบการลงทุนระบบอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เสริมแกร่งซัปพลายเชน พร้อมรองรับเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดร้อยละ 100 เผย 6 เดือนมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพิ่ม มูลค่าลงทุนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอไม่ได้มุ่งส่งเสริมเฉพาะโครงการลงทุนใหม่เท่านั้น แต่มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้วในด้านการเพิ่มหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วย ซึ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เป็นอีกมาตรการของบีโอไอที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ เช่น ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในกรณีที่โครงการเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นอกจากจะมีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแล้ว ยังมีมาตรการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล และการลงทุนนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างบริษัท ศรีบริสุทธิ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอเมื่อเร็วๆ นี้ นายเฉลิมรัฐ สินบริสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น บริษัทได้รับผลกระทบพอสมควรจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งบริษัทมองว่าช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ในขั้นตอนการหยิบชิ้นงาน ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประกอบกับมีมาตรการส่งเสริมจากบีโอไอ ทำให้บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต
“ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เราจำเป็นต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตทุกปีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ในด้านการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวนมาก เรามองเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามมาตรการเหล่านี้ จึงได้ยื่นขอรับการส่งเสริมด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มเติม โดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ และเราใช้เครื่องจักรที่พัฒนาในประเทศ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายเฉลิมรัฐกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำนวนรวม 88 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,020 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงาน จำนวน 67 โครงการ เงินลงทุน 9,260 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท