บอร์ด รฟท.ไฟเขียวตั้ง 3 รองผู้ว่าฯ และอนุมัติจ้างที่ปรึกษาเตรียมเวนคืน 1.8 หมื่นไร่ สร้างทางคู่สายบ้านไผ่ -นครพนม “นิรุฒ” คาดเปิดประมูลได้ในปีนี้วงเงิน 5.5 หมื่นล้าน แบ่ง 2 สัญญา ขณะที่เห็นชอบ “ศิริราช” เช่าที่ดิน 30 ปี ผุดสถานีร่วม “สายสีแดง”
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. วันที่ 13 ส.ค. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกรองผู้ว่าฯ รฟท. (นักบริหาร 14) จำนวน 3 คน ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ผู้ว่าฯ รฟท.จะลงนามแต่งตั้งต่อไป นอกจากนี้ บอร์ดอนุมัติจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.
ทั้งนี้ รายงานข่าวจาก รฟท.ระบุว่า ผลการคัดเลือกรองผู้ว่าฯ รฟท.จำนวน 3 คน ได้แก่ 1. นายพีระเดช หนูขวัญ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้รับคัดเลือกเป็นรองผู้ว่าฯ กลุ่มยุทธศาสตร์ 2. นายอวิรุทธ์ทองเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายการพัสดุ เป็นรองผู้ว่าฯ กลุ่มอำนวยการ และ 3. นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง เป็นรองผู้ว่าฯ กลุ่มธุรกิจการเดินรถ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
@จ้างสำรวจเวนคืนทางคู่สายใหม่ “บ้านไผ่-นครพนม”
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า รฟท.จะเร่งลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินค่างจ้าง159 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน ส่วนการก่อสร้างนั้นจะดำเนินการคู่ขนาน โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปีนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 แบ่งงานออกเป็น 2 สัญญา ขณะที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563
โดยรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท มีวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) หรือประมาณ 17,500 ไร่ ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท ตามแผนกำหนดเปิดเดินรถในปี 2568
ส่วนรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาทนั้น ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ โดยมีค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 10,660 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างนั้นได้เสนอ ครม.เพื่อยืนยันการดำเนินงานตามมติเดิม ซึ่งมีค่าก่อสร้างงานโยธาอยู่ที่ 72,921 ล้านบาท แบ่ง 3 สัญญา ได้แก่ 1. ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท 2. ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท 3. ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท
@อนุมัติ “ศิริราช” เช่าพื้นที่ 30 ปี ผุดสถานีร่วมสายสีแดง
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ได้อนุมัติให้คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชพยาบาลได้รับสิทธิการเช่าที่ดินของรฟท.บริเวณสถานีธนบุรี ประมาณ 2 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7,000 ตารางเมตร โดย รพ.ศิริราชเป็นผู้ลงทุน สัญญาเช่ามีระยะเวลา 30 ปี ปีแรก อัตราค่าเช่า 721.88 บาท/ตารางเมตร หรือประมาณ 5 ล้านบาท/ปี และปรับเพิ่ม 5% ทุกปี ซึ่งเป็นตามระเบียบรถไฟ ซึ่งเป็นการร่วมมือเพื่อประโยชน์กับประชาชนที่เดินทางมาโรงพยาบาลและสามารถใช้บริการรถไฟได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ รฟท.ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามมีการเช่าช่วงเกิน 1 ครั้ง
ส่วนกรณีที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน PPP เดินรถไฟสายสีแดง และก่อสร้างส่วนต่อขยาย ซึ่งจะรวมถึงสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ด้วยนั้น จะต้องระบุเรื่องพื้นที่เชื่อมต่อของ รพ.ศิริราชไว้ในทีโออาร์ที่จะเปิดประมูล PPP ด้วย